ช่วยด้วย! น้ำท่วมปอดคุณยาย (ตอนที่ 2)

อาการของภาวะน้ำท่วมปอดจากการอยู่ในพื้นที่สูง (High Altitude Pulmonary Edema : HAPE) ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • นอนไม่หลับ (Insomnia)
  • มีการคั่งของของเหลว (Fluid retention)
  • ไอ
  • หายใจลำบากหรือหายใจขัด (Shortness of breath)

ปกติปอดจะประกอบด้วยถุงลมที่ยืดหยุ่นได้ที่เรียกว่า ถุงลมปอด (Alveoli) ในการหายใจแต่ละครั้งถุงลมเหล่านี้จะนำออกซิเจนเข้าและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออก ในกรณีทั่วไปการแลกเปลี่ยนอากาศจะเกิดขึ้นโดยไม่มีปัญหา แต่หากเป็นกรณีที่ถุงลมปอดเต็มไปด้วยของเหลวแทนที่จะเป็นอากาศ จะทำให้ออกซิเจนไม่สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดความดัน ซึ่งจะทำให้หายใจลำบาก

มีหลายสาเหตุที่ทำให้ของเหลวเกิดการสะสมอยู่ในปอด แต่ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุเกิดจากหัวใจ (Cardiac pulmonary edema) เพื่อให้เข้าใจดีขึ้น เรามาทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจและปอดกันก่อนว่า

หัวใจแบ่งเป็น 4 ห้อง คือ 2 ห้องบน และ 2 ห้องล่าง หัวใจ 2 ห้องบน (ทั้งซ้ายและขวา) มีหน้าที่รับเลือดเข้าและส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างซึ่งมีหน้าที่สูบฉีดเลือดออกจากหัวใจ โดยมีลิ้นหัวใจเป็นประตูที่คอยเปิดปิดให้เลือดไหลไปในทางที่ถูก

ปกติเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำหรือที่เรียกว่า เลือดดำ (Deoxygenated blood) ทั่วร่างกายจะไหลเข้าทางหัวใจห้องบนขวา (Right atrium) และไหลไปยังหัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) เพื่อสูบฉีดผ่านหลอดเลือดใหญ่ที่ไปสู่ปอด (Pulmonary arteries) ที่บริเวณปอดเลือดจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และจับออกซิเจนแทน

เลือดที่สะอาดไปด้วยออกซิเจนจะกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) แล้วไหลผ่านลิ้นหัวใจ (Mitral valve) ไปยังหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) และในที่สุดจะไหลออกจากหัวใจผ่านเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ชื่อว่า Aorta ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย โดยมีลิ้นหัวใจ (Aortic valve) คอยควบคุมไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าสู่หัวใจ

น้ำท่วมปอดที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจ (Cardiac pulmonary edema) หรือที่รู้จักกันว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) เกิดขึ้นเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถสูบฉีดเลือดที่รับจากปอดได้ตามต้องการ ทำให้เกิดความดันเพิ่มขึ้นในหัวใจห้องบนซ้าย ในหลอดเลือดดำ (Veins) และหลอดเลือดฝอย (Capillaries) ในปอด เป็นสาเหตุให้ของเหลวในหลอดเลือดฝอยซึมผ่านผนังหลอดเลือดเข้ายังถุงลมปอด

ภาวะหัวใจล้มเหลวยังอาจเกิดจากการที่หัวใจห้องล่างขวาไม่สามารถควบคุมความดันที่เพิ่มขึ้นในหลอดเลือดไปยังปอด (Pulmonary arteries) ซึ่งมักเกิดจากการที่หัวใจซ้ายล้มเหลว หรือเป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือมีความดันสูงในหลอดเลือดไปยังปอด (Pulmonary hypertension)

แหล่งข้อมูล

  1. Symptoms. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=symptoms [2013, February 15].
  2. Causes. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=causes [2013, February 15].