ชีวิตเส็งเคร็ง จากมะเร็งท่อน้ำดี (ตอนที่ 5 และตอนสุดท้าย)

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวต่ออีกว่า เชื่อว่า สาเหตุของโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ เกิดจากพฤติกรรมการกินปลาดิบจำพวกปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด ซึ่งมีพยาธิใบไม้ในตับ นอกจากนี้ประชาชนในภาคอีสาน ยังชอบบริโภคปลาร้าดิบที่อาจมีสารก่อมะเร็งชนิดนี้

ดังนั้น หนทางแก้ไขปัญหานี้ จึงต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องอาหารการกิน ขณะนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำโครงการรณรงค์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง โดยได้จัดทำหลักสูตรเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารในระดับโรงเรียน เน้นหนักกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6

ส่วนในกลุ่มประชาชน สธ. จังหวัด ก็จะอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอย่างเข้มข้น เพื่อแนะนำ การรณรงค์ชาวบ้าน ไม่ให้กินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือปลาร้าดิบ นายแพทย์สุรวิทย์เอง จะนำเสนอรัฐบาลเรื่องการรณรงค์ป้องกันโรคนี้ ให้เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน ระดับต้นๆ ที่ต้องทำ โดยเน้นในภาคอีสาน

การป้องกันเป็นมาตรการสำคัญยิ่ง เพราะเมื่อเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับแล้วไม่มีโอกาสหายเลย เว้นแต่จะผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ซึ่งยังคงเป็นวิธีการรักษาเพียงวิธีเดียวเท่านั้น ในหลายๆกรณี การประเมินว่าสามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้ทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องประเมินในขณะทำการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องได้รับการผ่าตัดสำรวจช่องท้อง (Surgical exploration) เว้นเสียว่าจะมีข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้วว่า เนื้องอกนั้นอยู่ในระยะที่ไม่สามารถ รักษาได้โดยการผ่าตัด

ในกรณีผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา (Adjuvant radiation therapy) และ/หรือเคมีบำบัด (Adjuvant chemotherapy) ร่วมด้วยตามหลังการผ่าตัด เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาหายขาด แต่หากพบผลจากขอบชิ้นเนื้อ ว่ามีเซลล์มะเร็ง (Positive margin) จะเป็นการบ่งชี้ว่ายังไม่สามารถเอาก้อนเนื้องอกออกได้หมดด้วยการผ่าตัด ในกรณีเช่นนี้ การรักษาร่วมด้วยการฉายรังสี (และอาจรวมถึงเคมีบำบัด) จึงได้รับการยอมรับโดยทั่วไป

ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยโรคเมื่อโรคลุกลามไปมากถึงระยะที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้มักได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแบบบรรเทาอาการ (Palliative chemotherapy) โดยอาจใช้ร่วมกับรังสีรักษา มีการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมที่รับรองการรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้วว่าสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตและยืดอายุขัยของผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับได้ เมื่อไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

โอกาสของการรักษาหายขาด ของผู้ป่วยที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้องอก และสามารถผ่าเอาเนื้องอกนั้นออกได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเพราะตรวจพบว่ามีการ แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณไกลนั้น อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี (5-year survival rate) อยู่ที่ 0%

สำหรับค่ามัธยฐาน (Median) การรอดชีวิตโดยภาพรวม (Overall median duration of survival) จะอยู่ที่ 5% เท่านั้นเอง ส่วนการรอดชีวิตจะอยู่ที่น้อยกว่า 6 เดือนในกรณีผู้ของป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ไม่ได้รับการรักษาสุขภาพอื่นๆ และมีเนื้องอกอยู่ในตับผ่านทางท่อน้ำดีในตับและหลอดเลือดดำใหญ่ในตับ (Hepatic portal vein)

การพยากรณ์โรคอาจเลวร้ายลงไปอีก กรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ เป็นโรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นปฐมภูมิอยู่ก่อน ในระยะที่โรคได้ลุกลามไปมากแล้ว มีหลักฐานบางชิ้นพบว่า ผลการรักษา อาจดีกว่าหากได้รับการรักษาผ่าตัดแบบกินบริเวณกว้าง (Aggressive) และบำบัดร่วม (Adjuvant therapy) ด้วยรังสีรักษาและ/หรือเคมีบำบัด

แหล่งข้อมูล:

  1. เผยปลาร้าดิบทำคนอีสานป่วยมะเร็งตับ-ท่อน้ำดี สูงสุดในโลก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000022649 [2012, February 26].
  2. มะเร็งท่อน้ำดี http://th.wikipedia.org/wiki/มะเร็งท่อน้ำดี [2012, February 26].