ชีวิตเส็งเคร็ง จากมะเร็งท่อน้ำดี (ตอนที่ 4)

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในอนาคต จะเสนอแผนจัดหาเครื่องอัลตร้าซาวด์แบบดิจิตอล ตรวจหาโรคมะเร็งตับและ โรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ และโรคอื่นๆ อาทิ โรคนิ่ว ในโรงพยาบาลชุมชน ที่มีราคาไม่สูงมากนัก ราคาประมาณเครื่องละ 500,000 - 800,000 บาท

เครื่องมือดังกล่าวจะทำให้ สธ.สามารถตรวจหามะเร็ง 2 ชนิดนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การรักษาก็จะได้ผลมากกว่าเดิม ปัจจุบันอัตราการรอดชีวิตหลังรักษาต่ำกว่าร้อยละ 10 แต่ถ้าสามารถตรวจและรู้ได้เร็ว ให้การรักษาเร็ว ก็จะทำให้การรักษาได้ประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ยังผลให้อัตราตายภายใน 10 ปี อาจลดลงได้ถึงร้อยละ 50

การตรวจภาพรังสีช่องท้อง (Abdominal imaging) โดยเฉพาะการตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ของตับและแขนงทางเดินน้ำดี (Biliary tree) มักป็นทางเลือกแรกๆ ในการตรวจภาพรังสี สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีการอุดตันของทางเดินน้ำดี (Obstructive jaundice)

แต่บางครั้ง การใช้ซีทีสแกน (Computed Tomography : CT) ก็อาจได้ข้อมูลเพียงพอ ในการช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับได้ และบ่อยครั้งการดูภาพของท่อน้ำดีโดยตรงก็มีความจำเป็น โดยผ่านการตรวจภายในท่อน้ำดีและตับอ่อนด้วยการส่องกล้อง (Endoscopic retrograde cholangio-pancreatography: ERCP)

การตรวจผ่านกล้องดังกล่าว โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารหรือ ศัลยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมพิเศษ เป็นการตรวจที่ใช้กันทั่วไป แม้ ERCP จะเป็นการตรวจที่อาจก่อการบาดเจ็บต่อทางเดินน้ำดี (Invasive) และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผลดีก็คือทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ และสามารถให้การรักษาโดยการใส่ท่อขยายทางเดินน้ำดีที่อุดตัน (Stent) หรือใช้ในวิธีอื่นๆ (Intervention) ในการลดการอุดตันทางเดินน้ำดีได้

นอกจากนี้ ยังสามารถทำการตรวจอัลตราซาวนด์และการส่องกล้อง (Endoscopic ultrasound) ไปพร้อมๆ กันเพื่อเพิ่มความแม่นยำของการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิ วิทยาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งการประเมิน ว่าจะสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้หรือไม่ด้วย

นอกจากวิธีการ ERCP แล้ว ยังอาจตรวจภาพท่อน้ำดีด้วยการเจาะผ่านผิวหนังและตับ (Percutaneous transhepatic cholangiography: PTC) แต่หากไม่ต้องการก่อให้เกิดแผลกับผู้ป่วย ก็อาจใช้วิธีการตรวจภาพทางเดินน้ำดีและตับอ่อน จากคลื่นแม่แหล็ก (Magnetic resonance cholangio-pancreatography: MRCP)

เนื่องจากสามารถแสดงให้เห็นขอบเขตของเนื้องอกได้แม่นยำกว่าและลดความเสี่ยง ที่เกิดจากการใช้ ERCP ด้วย ผู้เชี่ยวชาญบางท่านจึงใช้ MRCP แทน ERCP ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถได้ชิ้นเนื้อที่เหมาะสมกับการส่งตรวจทางพยาธิวิทยาและเพื่อให้สามารถประเมินระยะของผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับได้ บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดช่องท้อง (Surgical exploration)

ส่วนการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Laparoscopy) สามารถใช้เพื่อการประเมินระยะของผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับได้ และอาจลดความจำเป็นของการผ่าตัดช่องท้องด้วยวิธีทั่วไป (Laparotomy) ลงได้ ในผู้ป่วยบางราย นอกจากนี้การผ่าตัดยังเป็นวิธีการรักษาให้หายเพียงทางเดียวของโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ แต่ก็ทำได้กับเฉพาะโรคระยะแรกเริ่มเท่านั้น

แหล่งข้อมูล:

  1. เผยปลาร้าดิบทำคนอีสานป่วยมะเร็งตับ-ท่อน้ำดี สูงสุดในโลก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000022649 [2012, February 25].
  2. มะเร็งท่อน้ำดี http://th.wikipedia.org/wiki/มะเร็งท่อน้ำดี [2012, February 25].