ชีวิตเส็งเคร็ง จากมะเร็งท่อน้ำดี (ตอนที่ 1)

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ขณะนี้ประชาชนในภาคอีสานมีอัตราป่วยจากโรคมะเร็งตับและ มะเร็งท่อน้ำดีของตับ สูงที่สุดในโลก โดยจะพบได้จำนวน 30 – 40 คนต่อประชากรทุก 100,000 คน สธ. เตรียมผลักดันโครงการแก้ไขโรคดังกล่าวให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีแผนที่จะจัดหาเครื่องตรวจหามะเร็ง 2 ชนิดนี้ ในโรงพยาบาลชุมชน [โรงพยาบาลอำเภอเดิม] สธ. เชื่อมั่นว่าจะช่วยรักษาชีวิตประชาชนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

โรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดกับท่อน้ำดีของตับ (Bile duct) ซึ่งเป็นอวัยวะที่นำน้ำดีจากตับมายังลำไส้เล็ก มะเร็งอื่นๆ ในทางเดินน้ำดี ได้แก่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ และมะเร็งในเนื้อเยื่อส่วนที่เรียกว่า Hepatopancreatic ampulla

อันที่จริง มะเร็งท่อน้ำดีของตับ ถือว่าเป็นมะเร็งที่ค่อนข้างพบน้อยในทั่วโลก โดยมีอุบัติการณ์ปีละประมาณ 1 – 2 รายต่อ 100,000 คนในโลกตะวันตก แต่อุบัติการณ์ของมะเร็งท่อน้ำดีของตับในประไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลับมีสูงที่สุดในโลกและในช่วงหลายสิบปีมานี้อัตราอุบัติการณ์ของมะเร็งท่อนำดีของตับทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

อาการเด่นที่เห็นได้ชัดของมะเร็งท่อน้ำดีของตับ ก็คือ การมีผลตรวจวิเคราะห์การทำงานของตับที่ผิดปกติ ปวดท้อง ดีซ่าน (Jaundice) น้ำหนักลด และอาจมีอาการคันทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจมีไข้ สีของอุจจาระและปัสสาวะเปลี่ยนไป โรคนี้วินิจฉัยโดยอาศัยผลตรวจเลือด ผลตรวจภาพรังสี ผลการส่องกล้อง และบางครั้งอาจต้องอาศัยการผ่าตัดเปิดสำรวจ (Surgical exploration)

ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีของตับส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ปรากฏปัจจัยเสี่ยงชัดเจน โดยที่มะเร็งท่อน้ำดีของตับมักปรากฏอาการในระยะท้ายๆ ของโรค เป็นการจำกัดทางเลือกในการรักษา ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งท่อน้ำดี ได้แก่ โรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นปฐมภูมิ (Primary sclerosing cholangitis) ความผิดปกติแต่กำเนิดของตับ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ (ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในบ้านเรา) และ การสัมผัสสารทึบรังสีบางชนิด

มะเร็งท่อน้ำดีของตับเป็นโรคที่สามารถมีอันตรายถึงชีวิตได้อย่างรวดเร็ว หากไม่สามารถตัดเนื้อมะเร็งออกให้หมดได้ ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาใดๆ ที่มีโอกาสให้หายขาดจาดโรคได้นอกจากการผ่าตัด เท่านั้น แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ ก็เป็นระยะที่โรคลุกลามไปมากแล้ว จนไม่สามารถผ่าตัดได้เลย

แพทย์มักให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีของตับ ด้วยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือรังสีรักษา (Radiation therapy) เป็นการรักษาแบบประทังอาการ (Palliative care) การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้เป็นการบำบัดเสริม (Adjuvant therapy) หลังการผ่าตัดสำเร็จ

งานศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบัน พยายามใช้วิธีการใหม่ๆ ในการรักษามะเร็งท่อน้ำดีของตับอันได้แก่การรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) หรือการบำบัดด้วยแสง ด้วยวิธีรักษาที่เรียกว่า Photodynamic therapy รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยหาทางวินิจฉัยโรค โดยใช้การตรวจเลือดวัดระดับของสารมะเร็ง (Tumor marker) จากเซลล์มะเร็ง

แหล่งข้อมูล:

  1. เผยปลาร้าดิบทำคนอีสานป่วยมะเร็งตับ-ท่อน้ำดี สูงสุดในโลก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000022649 [2012, February 22].
  2. Cholangiocarcinoma. http://en.wikipedia.org/wiki/Cholangiocarcinoma [2012, February 22].