ชีวิตอับเฉา ด้วยโรคเบาหวาน

น.พ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศยืนยันตรงกันว่า ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองแตกมากกว่าคนปกติ ประมาณ 3 – 17 เท่า เบาหวานเพิ่มความเสี่ยง 3 เท่า การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยง 2 เท่า ไขมันในเลือดสูงเพิ่มความเสี่ยง 1.5 เท่า

ตามปรกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) เป็นความผิดปรกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงหรือต่ำเกินปรกติ จนทำให้เกิดภาวะรุนแรงฉุกเฉินต่อร่างกาย สถิติในปี พ.ศ. 2550 พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก มีจำนวนถึง 246 ล้านราย โดยที่เป็นชาวเอเชียถึง 4 ใน 5 ของทั่วโลก

โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 (Type 1 diabetes) ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน จนผู้ป่วยจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะยาว แม้ยังทราบสาเหตุที่แท้จริงในปัจจุบัน แต่ก็ทราบปัจจัยความเสี่ยง อันได้แก่ การได้รับสารพิษ การติดเชื้อ และการแพ้นมวัวโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

ส่วนโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 1 diabetes) เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การขาดการออกกำลังกาย และอายุที่เพิ่มขึ้น ร่างกายของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทนี้ ยังคงสร้างอินซูลินอยู่ เพียงแต่ทำงานไม่เป็นปรกติ เพราะภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆ ถูกทำลายไป แล้วเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว ในบางราย จึงต้องกินยา หรือฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติ

ประเภทที่ 3 เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เมื่อสตรีมีครรภ์ซึ่งไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นภาวะก่อนวิวัฒนาการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 นอกจากนี้ยังมีรูปแบบอื่นๆ ของโรคเบาหวาน อาทิ โรคเบาหวานที่มาแต่กำเนิด เพราะความบกพร่องทางพันธุกรรม

อาการของโรคเบาหวาน ได้แก่ ปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น (โดยเฉพาะเวลานอนตอนกลางคืน) กระหายน้ำบ่อย (จึงต้องดื่มน้ำในปริมาณที่มากๆ) เหนื่อยง่ายและอ่อนเปลี้ยเพลียแรง น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ (โดยเฉพาะผู้เคยมีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก่อน) ติดเชื้อ [ง่ายและ] บ่อยกว่าปกติ (อาทิ ติดเชื้อทางผิวหนังและกระเพาะอาหาร) สายตาพร่ามองเห็นไม่ค่อยชัด และเป็นแผลที่หายช้า

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนทางจอตา (Diabetic retinopathy) ทางไต (Diabetic nephropathy) ทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) ทางโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary vascular disease) ทางโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease or stroke) ทางโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vascular disease) และจากการเกิดแผลเรื้อรัง (Diabetic ulcer) เช่น แผลที่เท้า

การดูแลป้องกันโรคเบาหวาน ทำได้โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การบำบัดจำเป็นจะต้องสร้างให้เกิดความสมดุล 3 ด้าน กล่าวคือ ด้านโภชนาการ ด้านการออกกำลังกาย และด้านการใช้ยารักษา โดยเฉพาะปัจจัยวิถีชีวิตและการรักษาสุขภาพ อาทิ การเลิกสูบบุหรี่ และการควบน้ำหนัก

แหล่งข้อมูล:

  1. ผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันสูง-ไขมันสูง เลี่ยงดื่มของมึนเมา เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000166810 [2012, January 7].
  2. เบาหวาน http://th.wikipedia.org/wiki/เบาหวาน [2012, January 7].
  3. Diabetes mellitus. http://en.wikipedia.org/wiki/Diabetes_mellitus [2012, January 7].