ชีวิตพิการเพราะรูมาตอยด์ (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

ชีวิตพิการเพราะรูมาตอยด์

แต่หากการใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขข้อที่ถูกทำลาย เป็นการช่วยลดอาการปวดและการผิดรูปของข้อ

อย่างไรก็ดี การผ่าตัดไม่ได้ใช้กับทุกคน เพราะต้องพิจารณาถึงสุขภาพโดยรวม สภาพของข้อหรือเส้นเอ็นที่ต้องผ่า ซึ่งมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยง

โดยการผ่าตัดโรคข้อรูมาตอยด์อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน ดังนี้

  • การผ่าตัดเยื่อหุ้มข้อ (Synovectomy) ซึ่งสามารถทำได้กับข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ และสะโพก
  • การแก้ไขเส้นเอ็น (Tendon repair) ที่หย่อนหรือฉีก อันเนื่องมาจากการอักเสบ
  • การรวมข้อ (Joint fusion) เพื่อทำให้ข้อมีเสถียรภาพ (Stabilize) หรือปรับข้อใหม่ (Realign) เพื่อลดอาการปวด ในกรณีที่ไม่สามารถทำการเปลี่ยนข้อได้
  • การเปลี่ยนข้อทั้งหมดด้วยข้อเทียม

สำหรับการเฝ้าดูอาการอย่างต่อเนื่อง (Routine monitoring and ongoing care) มีความสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบถึงประสิทธิผลในการรักษา ผลเสียจากการใช้ยา และกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการรักษา

การเฝ้าดูอาการสามารถทำได้ด้วยการตรวจเลือด ปัสสาวะ การทดสอบในห้องแล็ป และการเอ็กซเรย์

นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังภาวะกระดูกพรุนด้วย เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคกระดูกพรุนอันเนื่องมาจากการใช้ยาสเตียรอยด์ ดังนั้น จึงอาจต้องกินอาหารเสริมที่มีแคลเซียมและวิตามินดี

และเพราะระดับความรุนแรงของโรคข้อรูมาตอยด์สามารถมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหดหู่ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ระดับการนับถือตนเองต่ำ (Low self-esteem) ดังนั้นจึงควรดูแลตนเอง เช่น

  • ร่วมมือกับแพทย์เพื่อวางแผนการจัดการกับโรคข้อรูมาตอยด์
  • รู้ข้อจำกัดของตัวเอง พักเมื่อมีอาการเหนื่อย เพราะโรคข้อรูมาตอยด์มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยอ่อนแอและกล้ามเนื้ออ่อนแรง การพักหรืองีบหลับอาจช่วยได้
  • ติดต่อ พบปะ กับผู้อื่น
  • ทำตัวสบายๆ ผ่อนคลายความเครียด

อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างการวิจัยถึงสาเหตุและพัฒนาการของโรคข้อรูมาตอยด์ว่า ทำไมคนหนึ่งเป็นในขณะที่คนอื่นไม่เป็น หรือทำไมบางคนจึงมีความรุนแรงของโรคมากกว่า ทั้งยังอยู่ระหว่างการค้นคว้าถึงวิธีการรักษาอื่น เช่น การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำหรับข้อที่ต้องทำการเปลี่ยน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ให้ดีขึ้นได้

แหล่งข้อมูล

1. Rheumatoid arthritis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rheumatoid-arthritis/home/ovc-20197388 [2016, August 15].

2. Rheumatoid arthritis. http://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-dry-eye [2016, August 15].

3. Rheumatoid arthritis. http://www.niams.nih.gov/health_info/rheumatic_disease/ [2016, August 15].