ชีวิตพิการเพราะรูมาตอยด์ (ตอนที่ 3)

ชีวิตพิการเพราะรูมาตอยด์

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคข้อรูมาตอยด์ ได้แก่

  • เพศ – ผู้หญิงมักเป็นมากกว่าผู้ชาย (ผู้หญิงเป็นประมาณ 2-3 เท่าของผู้ชาย)
  • อายุ – โรคข้อรูมาตอยด์สามารถเกิดได้ทุกวัย แต่ที่เป็นมากที่สุดคือ ระหว่างอายุ 40-60 ปี
  • ประวัติครอบครัว – หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมากขึ้น
  • การสูบบุหรี่ – เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคและมีความรุนแรงของโรคมากกว่าปกติ
  • สภาพแวดล้อม – ผู้ที่ต้องสัมผัสกับสภาพแวดล้อม เช่น ใยหิน (Asbestos) หรือซิลิกา (Silica) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมากขึ้น
  • ความอ้วน – ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคมากขึ้นเมื่ออายุ 55 ปีหรือน้อยกว่า

โรคข้อรูมาตอยด์จะเพิ่มความเสี่ยงในการมีภาวะแทรกซ้อนดังนี้

  • ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) – ด้วยภาวะของโรคข้อรูมาตอยด์และยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนที่ทำให้กระดูกมีแนวโน้วที่จะหักง่ายขึ้นด้วย
  • มีปุ่มรูมาตอยด์ (Rheumatoid nodules) ตามข้อหรืออวัยวะต่างๆ เช่น ปอด
  • ตาและปากแห้ง หรือที่เรียกว่า กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's syndrome)
  • ติดเชื้อง่าย เพราะยาที่ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • สัดส่วนของร่างกายผิดปกติ (Abnormal body composition) กล่าวคือ จะมีสัดส่วนของไขมันมากกว่าเนื้อในคนที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ แม้ในคนที่มีดัชนีมวลกาย (Body mass index = BMI) ปกติ
  • มีการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) หากเป็นโรคข้อรูมาตอยด์ที่บริเวณข้อมือ
  • มีปัญหาโรคหัวใจ เพราะโรคข้อรูมาตอยด์จะทำให้หลอดเลือดแข็งและมีการอักเสบของถุงหุ้มหัวใจ (Sac)
  • เป็นโรคปอด ทำให้ปอดมีรอยซึ่งสามารถเป็นเหตุให้หายใจลำบาก
  • มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) สูง

การวินิจฉัยโรคข้อรูมาตอยด์ระยะแรก ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะมักจะมีอาการคล้ายโรคอื่น แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจดูข้อว่าบวม แดง และอุ่น หรือไม่ และอาจตรวจความแข็งแรงและปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (Reflexes) ของกล้ามเนื้อด้วย นอกจากนี้ ยังมีการตรวจ

  • ค่า Elevated erythrocyte sedimentation rate (ESR หรือที่เรียกกันว่า sed rate) เป็นการตรวจการจับตัวของเม็ดเลือดแดงที่ตกลงไปยังก้นของหลอดทดลอง หากพบว่า เม็ดเลือดตกลงด้วยอัตราเร็วสูง แสดงให้เห็นว่า มีการอักเสบสูง
  • ค่า C-reactive protein (CRP) สามารถบ่งบอกให้ทราบว่า มีการอักเสบสูงมากน้อยแค่ใหน
  • ค่า Anti-cyclic citrullinated peptide (Anti-CCP) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกิดจากทำลายของเนื้อเยื่อโดยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทั้งนี้ หากตรวจพบค่า Anti-CCP ในเลือด ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพราะผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ร้อยละ 60-70 จะพบค่านี้
  • การตรวจเอ็กซเรย์
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ
  • การตรวจอัลตราซาวด์

แหล่งข้อมูล

1. Rheumatoid arthritis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rheumatoid-arthritis/home/ovc-20197388 [2016, August 12].

2. Rheumatoid arthritis. http://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-dry-eye [2016, August 12].

3. Rheumatoid arthritis. http://www.niams.nih.gov/health_info/rheumatic_disease/ [2016, August 12].