“ชัก” เป็นเรื่อง (ตอนที่ 1)

ชักเป็นเรื่อง

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบมาก และเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะทุพพลภาพทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ และอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งตนเองและผู้อื่นได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยเกิดอาการชักระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ เช่น ขับรถ ทำกับข้าว เดินข้ามถนน หรือผู้ที่ทำกิจกรรมทางน้ำ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าโรคลมชักจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากเป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน

นพ.สุพรรณ อธิบายว่า โรคลมชักเกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์สมองอย่างเฉียบพลัน โดยมีการปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อมกันจากจุดใดจุดหนึ่งหรือทั้งหมด

อาการชักเกิดได้จากหลายสาเหตุ ผู้ป่วยที่มีอาการชักอาจไม่เป็นโรคลมชักเสมอไป แต่อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้น เช่น เป็นไข้ อดนอน ดื่มหรือหยุดแอลกอฮอล์ แสงกะพริบ เสียงดัง ความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจที่รุนแรง และการมีรอบเดือน เป็นต้น

นพ.สุพรรณ อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีอาการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคลมชักได้ เช่น การติดเชื้อในสมอง อุบัติเหตุต่อสมองระยะเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน ความผิดปกติทางเมตาโบลิก หรือมีไข้สูงในเด็ก เป็นต้น

ปัจจัยบ่งชี้ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพิ่มขึ้น เช่น สูงอายุ ชักแบบภาวะชักต่อเนื่องเกร็งกระตุกทั้งตัว และเปลี่ยนไปเป็นกระตุกเล็กน้อย หรือกระตุกเฉพาะที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีพยาธิสภาพเฉียบพลันในสมอง เช่น สมองขาดออกซิเจน การบาดเจ็บสมอง การเป็นพิษต่อสมอง ชักต่อเนื่องนานกว่า 60 นาที รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อน

สำหรับหลักการรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ต้องรักษาผู้ป่วยให้หยุดชักก่อนกลายเป็นภาวะชักต่อเนื่อง โดยปฏิบัติ ดังนี้ 1. หยุดอาการชักให้เร็วที่สุด 2. ป้องกันการชักซ้ำ 3. บำบัดหรือกำจัดสาเหตุที่แก้ไขได้ 4. ป้องกันและบำบัดภาวะแทรกซ้อน

นพ.สุพรรณ กล่าวถึง กรณีการดูแลผู้ป่วยว่า หากเกิดอาการชัก ควรเปิดทางหายใจให้โล่ง จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนหงายและตะแคงหน้า นำอาหารหรือฟันปลอมที่มีอยู่ในปากออก และคลายเสื้อผ้าให้หลวมให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก จัดให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย ป้องกันอันตรายจากส่วนของร่างกายกระแทกกับของแข็ง

ห้ามใช้ไม้กดลิ้นหรือวัตถุใดๆ สอดเข้าไปในปากหรืองัดปากผู้ป่วยขณะเกร็งกัดฟัน เพราะอาจเกิดอันตรายฟันหักตกลงไปอุดหลอดลมได้ หากมีไข้สูง (อุณหภูมิกายเกิน 38 องศาเซลเซียส) ให้เช็ดตัวลดไข้ ห้ามให้ยากิน เพราะอาจสำลักได้ และโทรศัพท์แจ้ง 1669 หรือรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งนี้ โรคนี้ป้องกันและรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ

แหล่งข้อมูล

  1. วิธีหยุด “อาการชัก” ผู้ป่วยก่อน “ชักต่อเนื่อง” ป้องกันสมองขาดออกซิเจน. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000095025&Keyword=%e2%c3%a4 [2015, August 27].