ชักเพราะ “ลมบ้าหมู” (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ชักเพราะ-ลมบ้าหมู

แต่หากต้นเหตุของการชักอยู่ในบริเวณสมองส่วนที่สำคัญอย่างส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การพูด หรืออื่นๆ อาจต้องใช้การผ่าตัดแบบรู้สึกตัว ไม่วางยาสลบ ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีชวนคุยและถามปัญหาผู้ป่วยระหว่างทำการผ่าตัด

หากต้นเหตุของการชักอยู่ในบริเวณสมองส่วนที่ไม่สามารถผ่าออก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัดเล็กๆในบริเวณสมองใหญ่ส่วนนอก เพื่อตัดการทำงานบางส่วนของกระแสประสาทที่จะกระตุ้นให้เกิดการชัก(Multiple subpial transection) ซึ่งการผ่าตัดจะทำเพื่อป้องกันไม่ให้การชักกระจายไปสู่ส่วนอื่นของสมอง

ทั้งนี้ หลังการผ่าตัด คนส่วนใหญ่ยังต้องกินยาเพื่อกันชัก ซึ่งอาจกินในจำนวนและปริมาณที่ลดลงกว่าแต่ก่อน

นอกจากการกินยาและผ่าตัดแล้ว ยังมีวิธีการรักษาอื่นๆ ได้แก่

  • Vagus nerve stimulation - โดยแพทย์จะปลูกถ่ายเครื่องกระตุ้นที่เรียกว่า Vagus nerve stimulator ไว้ใต้ผิวหนังที่หน้าอกคล้ายๆ กับเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Heart pacemaker) โดยสายที่ต่อกับเครื่องกระตุ้นจะเชื่อมกับประสาทเวกัส (Vagus nerve เป็นประสาทสมองเส้นที่ 10 ที่บริเวณคอ)

โดยเครื่องนี้จะส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังสมองผ่านเส้นประสาทเวกัส เพื่อช่วยอาการชักได้ร้อยละ 20 – 40 ซึ่งกรณีนี้คนส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องกินยากันชักต่อ แต่อาจลดปริมาณลง

อย่างไรก็ดี การใช้เครื่องนี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น เจ็บคอ เสียงแหบ (Hoarse voice) หายใจลำบาก (Shortness of breath) หรือไอ

  • สูตรลดน้ำหนักแบบคีโตเจนิค (Ketogenic Diet) - เป็นการลดน้ำหนักด้วยการทานอาหารหมู่คาร์โบไฮเดรต หรืออาหารประเภทแป้งและน้ำตาลให้น้อยที่สุด เน้นกินอาหารประเภทไขมันดีให้ได้ร้อยละ 75-80 ควบคู่ไปกับอาหารหมู่โปรตีน เพื่อปรับการทำงานของระบบเผาผลาญพลังงาน

ผลข้างเคียงของคีโตเจนิคก็คือ มีภาวะร่างกายขาดน้ำ ท้องผูก โตช้า เพราะขาดสารอาหาร และทำให้เกิดกรดยูริคในเลือดซึ่งอาจทำให้เป็นนิ่วได้ ดังนั้นวิธีนี้จึงควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์

การป้องกันโรคลมชักอาจทำโดย

  • การตั้งครรภ์ด้วยสุขภาพที่ดี เพราะปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดบางอย่างอาจเป็นสาเหตุให้เป็นโรคลมชักได้ ควรทำการฝากครรภ์ (Prenatal care) เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งแม่และลูก
  • ป้องกันการบาดเจ็บที่สมอง
  • ลดโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ
  • ฉีดวัคซีนตามกำหนด
  • ล้างมือก่อนทำอาหารเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น โรคพยาธิตืดหมู (Cysticercosis)
  • พยายามใช้ยาหรือวิธีอื่นในการลดอุณหภูมิของเด็กที่เป็นไข้เพื่อป้องกันการชัก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

แหล่งข้อมูล

  1. Epilepsy. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/epilepsy/home/ovc-20117206 [2015, September 4].
  2. Epilepsy. http://www.cdc.gov/epilepsy/basics/faq.htm [2015, September 4].
  3. Epilepsy. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs999/en/ [2015, September 4].