ชักเพราะ “ลมบ้าหมู” (ตอนที่ 2)

ชักเพราะ-ลมบ้าหมู

การชักอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น

  • การหกล้ม – อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือกระดูกหัก
  • การจมน้ำ – คนที่เป็นโรคลมชักมีโอกาสมากกว่าคนปกติ 15-19 เท่า ในการจมน้ำระหว่างการว่ายน้ำหรืออาบน้ำ
  • อุบัติเหตุทางรถยนต์ – โรคลมชักสามารถทำให้สูญเสียการรู้สึกตัว ซึ่งนับเป็นอันตรายหากอยู่ระหว่างการขับรถยนต์หรือการใช้เครื่องจักร
  • อาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ - การชักระหว่างการตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายทั้งแม่และลูก และยากันชัก (Anti-epileptic medications) ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้พิการแต่กำเนิด (Birth defect)
  • ปัญหาทางด้านอารมณ์ (Emotional health issues) – คนที่เป็นโรคลมชักส่วนใหญ่จะมีปัญหาอารมณ์ทางจิต เช่น ซึมเศร้าหดหู่ กระวนกระวายใจ หรือพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นผลจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา

นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ที่ทำให้เสียชีวิตได้ (แต่พบยาก)

  • ภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilepticus) หากมีอาการชักนานเกิน 5 นาที หรือ เกิดอาการชัก 2 ครั้งติดต่อกัน โดยระหว่างที่หยุดชักผู้ป่วยยังคงไม่รู้สึกตัว คนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในการที่สมองถูกทำลายอย่างถาวรและเสียชีวิต
  • เสียชีวิตทันทีโดยไม่ทราบสาเหตุ (Sudden unexplained death in epilepsy = SUDEP) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 1 ของผู้ป่วยโรคลมชัก

การตรวจวินิจฉัยโรค สามารถทำได้ด้วยวิธี

  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท (Neurological examination) ด้วยการดูพฤติกรรม ความสามารถในการเคลื่อนไหว สภาพจิตใจ และอื่นๆ
  • การตรวจเลือด (Blood tests) เพื่อดูการติดเชื้อ พันธุกรรม และอื่นๆ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram = EEG) เพื่อดูคลื่นสมองที่ผิดปกติ
  • การทำซีทีสแกน (Computerized tomography scan = CT Scan) โดยใช้รังสีเอ็กซเรย์ดูความผิดปกติของสมอง
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging = MRI) การใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุสร้างภาพสมองเพื่อดูความผิดปกติ
  • การสร้างภาพโดยวิธี Functional MRI (fMRI) ซึ่งเป็นการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก เป็นวิธีหนึ่งที่วัดการทำงานของสมอง โดยใช้หลักความเปลี่ยนแปลงของการเดินโลหิตที่สัมพันธ์กัน (เนื่องจากการเดินโลหิตในสมองและการทำงานของเซลล์ประสาทนั้นควบคู่กัน เมื่อเขตหนึ่งในสมองกำลังทำงานอยู่ การเดินโลหิตในเขตนั้นก็เพิ่มขึ้นด้วย)
  • การตรวจวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะต่างๆ ด้วยเครื่อง Single-photon emission computerized tomography (SPECT) ซึ่งใช้คุณสมบัติของธาตุกัมมันตรังสีที่ต่างกันเพื่อการสร้างภาพ (เป็นเทคนิคการสร้างภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์) มักใช้หลังจากที่การทำเอ็มอาร์ไอและการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไม่สามารถชี้จุดในสมองที่เป็นต้นเหตุของอาการชักได้
  • การตรวจสอบการทำงานของสมองด้านจิตเวช (Neuropsychological tests) ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน เช่น ความคิด (Thinking) ความจำ (Memory) และทักษะในการพูด (Speech skills) เพื่อดูว่าบริเวณสมองส่วนไหนที่มีปัญหา

แหล่งข้อมูล

  1. Epilepsy. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/epilepsy/home/ovc-20117206 [2015, September 2].