ชักเพราะ “ลมบ้าหมู” (ตอนที่ 1)

ชักเพราะ-ลมบ้าหมู

สืบเนื่องจากความเดิมตอนที่แล้วเรื่องการชัก เรามาดูกันต่อถึงการชักที่เกิดมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปโดยที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น (Unprovoked seizures) ที่เราเรียกว่าเป็น โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู

โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู (Epilepsy) เป็นความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง (Neurological disorder) ทำให้เกิดอาการชัก หรือบางทีก็หมดความรู้สึก ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคลมบ้าหมูมักจะมีอาการชักในลักษณะเหมือนกันทุกครั้ง

จากสถิติองค์การอนามัยโลก ปัจจุบันทั่วโลกมีคนประมาณ 50 ล้านคนที่เป็นโรคลมชัก ซึ่งร้อยละ 80 ของผู้ที่เป็นโรคนี้ จะอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับการเกิดโรคประจำท้องถิ่น เช่น โรคมาลาเรีย (Malaria) หรือ โรคพยาธิตืดหมูในระบบประสาท (Neurocysticercosis) และการสาธารณสุขของประเทศที่กระทบต่อสมอง)

การชักที่ไม่มีสิ่งกระตุ้นและเกิดอย่างน้อย 2 ครั้ง ควรจะได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นโรคลมชักหรือไม่ หรือแม้แต่การชักระดับอ่อนก็ควรที่จะต้องทำการรักษา เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ระหว่างการขับขี่รถยนต์ หรือ การว่ายน้ำ

โรคลมชักน่าจะมีสาเหตุมาจาก

  • อิทธิพลจากพันธุกรรม (Genetic influence)
  • การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head trauma)
  • สภาพสมองที่ถูกทำลาย เช่น มีก้อนเนื้อที่สมอง หรือมีโรคหลอดเลือดสมอง (Strokes) ซึ่งมักเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
  • การติดเชื้อ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคเอดส์ (AIDS) โรคไวรัสสมองอักเสบ (Viral encephalitis)
  • การได้รับบาดเจ็บก่อนคลอด (Prenatal injury) เช่น แม่ติดเชื้อ ทุพโภชนาการ หรือขาดอออกซิจน เป็นต้น
  • พัฒนาการที่ผิดปกติ เช่น โรคออทิซึม (Autism) และ โรคเนื้องอกเส้นประสาททั่วกาย หรือที่เรียกว่า โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis)

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคลมชัก ได้แก่

  • อายุ – ส่วนใหญ่การเริ่มเป็นโรคลมบ้าหมูมักเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กและหลังอายุ 60 ปี
  • ประวัติครอบครัว – หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติในการเป็นโรค ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ – ดังนั้นจึงควรลดความเสี่ยง เช่น คาดสายรัดเข็มขัดขณะนั่งรถยนต์หรือสวมหมวกกันน็อคขณะขี่มอเตอร์ไซด์ ขี่จักรยาน เล่นสกี หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสในการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง – ซึ่งสามารถทำลายสมองและกระตุ้นให้เกิดโรคลมบ้าหมู (อาจลดความเสี่ยงด้วยการจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงการสูบบุหรี่ กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ)
  • เป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) – ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคลมชักในผู้สูงอายุ
  • สมองติดเชื้อ – เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

แหล่งข้อมูล

  1. Epilepsy. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/epilepsy/home/ovc-20117206 [2015, September 1].
  2. Epilepsy. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs999/en/ [2015, September 1].