ชักเกร็งกระตุก (Generalised tonic-clonic seizures)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนคงต้องรู้จัก เคยได้ยิน หรือไม่ก็เคยเห็น คนที่มีอาการชักเกร็งกระตุก หมดสติ ปัสสาวะราด หรือกัดลิ้นตนเอง การชักแบบนี้คนไทยเรียกว่า การชักแบบ “ลมบ้าหมู” ซึ่งการชักลมบ้าหมูนี้เองที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า คนที่เป็นโรคลมชักต้องชักแบบลมบ้า หมูเท่านั้น จริงๆแล้วการชักแบบลมบ้าหมูหรือชื่อเป็นทางการว่า “การชักเกร็งกระตุกหรือลมชักเกร็งกระตุก (Generalized tonic - clonic seizure หรือ Tonic clonic seizure หรือ Grand mal seizure หรือ Generalized seisure)” นั้นเป็นเพียงการชักรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เรามาเรียนรู้กันให้ ละเอียด เพื่อนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการแนะนำคนที่เป็นโรคลมชักหรือใช้ในการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวเรา ต้องติดตามเรื่องราวการชักเกร็งกระตุกครับ

โรคลมชักเกร็งกระตุกคืออะไร? มีอาการอย่างไร?

ชักเกร็งกระตุก

โรคลมชักเกร็งกระตุก/โรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวคือ การชักรูปแบบหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติของกระแสไฟฟ้าจากเซลล์สมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกร็งแขน ขา ลำตัว อาจมีการส่งเสียงร้องดัง และตามด้วยอาการกระตุกของแขน ขา ลำตัว อาจมีการกัดลิ้นตนเองได้4% ของผู้ป่วย หรือมีปัสสาวะราด การชักเกร็งกระตุกส่วนใหญ่นั้นมีระยะเวลานานประมาณ 90 -120 วินาที

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีอาการชัก ผู้ป่วยจะไม่รู้สติ จำเหตุการณ์ต่างๆระหว่างที่เกิดไม่ได้ หลังจาก หยุดชักผู้ป่วยจะมีอาการมึนงง ปวดศีรษะ หรือลืมเหตุการณ์ต่างๆไปชั่วระยะเวลาสั้นๆ แล้วจะค่อยๆฟื้นตัวเป็นปกติ

ผู้ป่วยบางรายของลมชักเกร็งกระตุกอาจมีอาการเตือนนำมาก่อน และหลังจากหยุดชักอาจ มีแขน ขา อ่อนแรง (Todd’ s paralysis) ได้ แต่จะเป็นอยู่นานไม่เกิน 24 ชั่วโมง

โรคลมชักเกร็งกระตุกพบบ่อยหรือไม่?

โรคลมชักรวมทุกประเภทเป็นโรคที่พบได้บ่อยประมาณ 1% ของประชากร ซึ่งการชักรูป แบบเกร็งกระตุกนี้พบได้ประมาณ 50% ของลมชักทั้งหมด โดยอาจเริ่มต้นจากการชักเฉพาะส่วนของร่างกายก่อน แล้วจึงรุนแรงขึ้นเป็นแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (Secondary to generalized tonic - clonic seizure) หรือเริ่มต้นแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัวเลยตังแต่แรกก็ได้

โรคลมชักเกร็งกระตุกพบบ่อยในกลุ่มอายุใด เพศใด?

โรคลมชักเกร็งกระตุกพบได้ทุกเพศทุกวัย พบบ่อยมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากมีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง ส่งผลให้เกิดโรคทางสมองสูงขึ้น รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่นที่มีอุบัติเหตุทางจราจรได้บ่อย จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุต่อสมองมากขึ้น

สาเหตุลมชักเกร็งกระตุกเกิดจากอะไร?

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคลมชักเกร็งกระตุกขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ

  • ในเด็ก สาเหตุมักจากการติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) สมองขาดออกซิเจนตั้งแต่แรกเกิด
  • ในกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน สาเหตุมักเกิดจากอุบัติเหตุต่อสมอง
  • และกลุ่มผู้สูงอายุ สาเหตุมักเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกสมอง เป็นต้น

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ พบแพทย์/ไปโรงพยา บาลโดยเร็วเพื่อให้การประเมินโดยแพทย์ จะได้ทราบว่าเป็นโรคลมชักหรือไม่ เนื่องจากการรัก ษาที่เร็วย่อมดีกว่าการรักษาที่ล่าช้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียหายของสมองและเกิดอุบัติ เหตุจากการชัก หมดสติ สูญเสียการควบคุมตัว ที่อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้ แต่ไม่ต้องรีบพามาขณะที่มีอาการชัก (รอให้หยุดชักก่อนจึงรีบพามาโรงพยาบาล) ยกเว้นการชักนั้นเป็นนานเกินกว่า 5 นาทีจึงควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทั้งที่ยังชักอยู่

การพบแพทย์มีกี่แบบ? และควรเตรียมตัวอย่างไร?

การพบแพทย์มี 2 แบบ

ก. แบบแรกที่นำส่งโรงพยาบาลทันทีหลังหยุดชัก กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติข้างต้น ไม่ควรรีบนำส่งขณะมีอาการชัก เพราะการรีบนำผู้ป่วยมาขณะชักอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หรือรีบจนเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปโรงพยาบาลได้ การชักส่วนใหญ่แล้ว ทั่วไปจะนานประมาณ 90 - 120 วินาทีก็จะหยุด แต่ถ้าไม่หยุดชักเป็นนานมากกว่า 5 นาทีหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการชักก็ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

ข. แบบที่ 2 คือ มาพบแพทย์แบบไม่รีบด่วน ถ้าผู้มาพบแพทย์เป็นผู้เห็นเหตุการณ์การชักมาด้วยพร้อมกับผู้ป่วย ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ข้อมูลตรงต่อแพทย์ และถ้าสามารถถ่ายคลิป/ถ่ายรูปเหตุการณ์มาให้แพทย์ดูร่วมด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะการเห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆนั้นจะสามารถช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น

แพทย์วินิจฉัยโรคลมชักเกร็งกระตุกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคลมชักเกร็งกระตุกได้โดยจะใช้ข้อมูลรายละเอียดของอาการผิดปกติข้างต้นเป็นหลัก ถ้ามีคลิปเหตุการณ์ให้ดูร่วมด้วยก็จะทำให้ง่ายและแม่นยำในการวินิจฉัยได้ดี และการตรวจร่างกาย แต่ถ้าไม่มั่นใจ แพทย์ก็จะส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจเลือด หรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพิ่มเติม

กลุ่มอาการผิดปกติใดที่มีลักษณะคล้ายโรคลมชักเกร็งกระตุก?

อาการผิดปกติที่มีลักษณะคล้ายกับโรคลมชักชนิด/แบบเกร็งกระตุกได้แก่ อาการ ”เป็นลม” ซึ่งอาการเป็นลมนั้นจะมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างกันกับอาการชักคือ ส่วนใหญ่จะมีปัจจัยชักนำคือ เหนื่อย ตากแดด ยืนนาน อดน้ำอาหาร อาการที่เกิดขึ้นจะชักเกร็งกระตุกสั้นๆไม่กี่ครั้ง ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน หลังจากล้มลงนอนกับพื้นไม่นานก็ฟื้นคืนสติ พบปัสสาวะราดน้อยกว่า (กรณีที่ปัสสาวะครั้งสุดท้ายนานหลายชั่วโมงก่อนมีอาการเป็นลม) ไม่พบการกัดลิ้น หน้าซีด ตัวอ่อนไม่ค่อยพบตาเหลือกค้าง ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรงหลังจากฟื้นดี และมักพบว่ามีโรคประ จำตัวเช่น โรคหัวใจ ซีด เป็นต้น

การรักษาโรคลมชักเกร็งกระตุกทำอย่างไร?

การรักษาโรคลมชักเกร็งกระตุกประกอบด้วย การทานยากันชัก การรักษาสาเหตุ และการปฏิบัติตนของผู้ป่วย

ก. ยากันชัก: ที่ได้ผลมีหลายชนิด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยากันชัก) ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

ข. การรักษาสาเหตุ: เช่นการผ่าตัดสมองกรณีสาเหตุเกิดจากเนื้องอกสมอง การรัก ษาด้วยยากรณีสาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด เป็นต้น และ

ค. การรักษาที่สำคัญที่สุดอีกประการคือการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วยตาม แพทย์พยาบาลผู้ดูแลรักษาแนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเกิดการชักซ้ำ (อ่านเพิ่ม เติมในหัวข้อต่อไป)

การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง?

การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วยโรคลมชักทุกชนิดที่รวมถึงโรคลมชักเกร็งกระตุกที่สำคัญ คือ

  • ต้องทานยาที่แพทย์สั่งทุกวัน อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรขาดยาเลย
  • ไม่อดนอน ไม่นอนดึก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่ออกกำลังกายอย่างหนักหรือหักโหม
  • ถ้าไม่สบายมีไข้ควรรีบทานยาลดไข้
  • ถ้าไม่สบายต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ก่อนนัด และต้องนำยาที่ทานให้แพทย์ดูด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการทานยาที่อาจตีกันระหว่างยากันชักและยาที่ต้องใช้การเจ็บป่วยครั้งใหม่
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี้

โรคลมชักเกร็งกระตุกอันตรายหรือไม่?

โรคลมชักแบบ/ชนิดชักเกร็งกระตุกนั้นน่าจะเป็นการชักที่แรงที่สุดในการชักทุกชนิดคือ ผู้ป่วยหมดสติ ล้มลงกับพื้น เกร็งกระตุกทั่วตัว ซึ่งการชักบ่อยๆย่อมส่งผลต่อสมองอย่างแน่นอน แต่ถ้าชักไม่บ่อยก็ไม่ส่งผลต่อสมอง

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการล้มลงกับพื้น ศีรษะมีการกระแทกพื้นหรือเกิดอุบัติเหตุนั้น ก็จะส่ง ผลต่อสมองเหมือนกับการเกิดอุบัติเหตุต่อศีรษะ/สมองจากอุบัติเหตุ นอกจากนี้การล้มและการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและการหมดสติอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อส่วนอื่นๆของร่างกายเช่น แขนหัก ฟกซ้ำ ฟันหัก ตกน้ำ จมน้ำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น

โรคลมชักเกร็งกระตุกรักษาหายหรือไม่?

การรักษาโรคลมชักเกร็งกระตุกจะได้ผลดีหรือไม่ (มีการพยากรณ์โรคอย่างไร) ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคลมชักและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การชักแบบชักเกร็งกระตุกนั้นผลการรักษาค่อนข้างดี แต่ผู้ป่วยบางส่วน เมื่อรักษาแล้วอาการชักอาจไม่หายแต่ความรุนแรงจะลดลงเช่น จากการชักเกร็งกระตุกทั่วตัว เหลือเป็นเพียงชักเพียงบางส่วนของร่างกายและขณะชักยังรู้สึกตัวดี รวมถึงอาการชักเกิดห่างออกไปมาก

การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะชักทำอย่างไร?

การช่วยเหลือผู้ป่วยชักเกร็งกระตุกที่ถูกต้องคือ การป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการชัก การเกิดอันตรายนั้นเกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะมีอาการชักเพราะผู้ป่วยหมดสติ ล้มลงกับพื้นได้ การดูแลช่วยเหลือที่สำคัญคือ

  • ต้องจับผู้ป่วยนอนลงกับพื้น จัดให้ผู้ป่วยอยู่ห่างจากอุปกรณ์ต่างๆที่แขนขาอาจไปกระแทกได้
  • นำสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเช่น เตาไฟ กาน้ำร้อน ออกห่างจากผู้ป่วย
  • ระวังการสำลักอาหารหรือน้ำลายจึงต้องจับศีรษะผู้ป่วยให้ตะแคง
  • ไม่ต้องกด ยึด ผูกรัดแขนขา หรือกดปั้มหน้าอก หรือกดแขนขาใดๆ
  • ไม่ต้องงัดปากผู้ป่วยหรือนำวัสดุใส่เข้าไปในปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันการกัดลิ้น เพราะโอกาส เกิดการกัดลิ้นน้อยมาก และการงัดปากอย่างแรงส่งผลเสียต่อผู้ป่วยมากกว่า ฟันอาจหัก และหลุดเข้าหลอดลม
  • ไม่ควรนำพริก มะนาว หรืออาหาร ให้ผู้ป่วยทาน ขณะมีอาการหรือหลังหยุดชักใหม่ๆที่ยังไม่รู้สติดีเพราะอาจเกิดการสำลักได้

การรักษาต้องทานยานานเท่าใด?

การรักษาโรคลมชักเกร็งกระตุกจะด้วยการทานยากันชักนานต่อเนื่องประมาณ 3 ปีกรณีที่ตอบสนองต่อการรักษาดี แต่ในกรณีที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา แพทย์ก็ต้องค่อยๆปรับเพิ่มยาเป็นระยะๆ ดังนั้นผู้ป่วยบางรายต้องทานยากันชักไปตลอดชีวิตก็มี

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยลมชักเกร็งกระตุกควรพบแพทย์ก่อนนัดกรณีที่

  • อาการชักรุนแรงมากขึ้น
  • เกิดอุบัติเหตุจากการชัก
  • สงสัยว่าจะแพ้ยากันชัก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยากันชัก)
  • มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากเข้ารับการรักษาจากแพทย์ใกล้บ้าน
  • ยากันชักที่ทานอาจหมดก่อนกำหนดควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนที่ยาจะหมด ต้องไม่ขาดยากันชัก
  • กังวลในอาการ

การพบแพทย์ตามนัดแต่ละครั้งควรเตรียมตัวอย่างไร?

การพบแพทย์ที่ได้ประโยชน์ ผู้ป่วยควรเตรียมการจดบันทึกประวัติการชักว่ามีจำนวนกี่ครั้ง ชักรูปแบบไหนบ้าง วันที่เท่าไหร่ และมีปัจจัยกระตุ้นการชักหรือไม่ การทานยาสม่ำเสมอ ขาดวันไหนบ้าง มีผลเสีย/ผลข้างเคียงจากการทานยาหรือไม่ รวมทั้งข้อสงสัยต่างๆ เพื่อป้อง กันการลืมควรมีการจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวันลงสมุดบันทึกอาการ เพื่อนำ มาแจ้งแพทย์พยาบาลผู้รักษา

ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมใดบ้างในการใช้ชีวิตแต่ละวัน?

เนื่องด้วยการชักเกร็งกระตุกแบบนี้มีการหมดสติและล้มลงได้ ผู้ป่วยจึงมีโอกาสเกิดอุบัติ เหตุได้ง่าย แนะนำให้ห่างจากแหล่งน้ำ ไม่ควรอยู่ในที่สูง ไม่ควรขับรถ ไม่ควรเล่นกีฬาผาดโผน และกีฬาที่มีการปะทะ

ป้องกันโรคลมชักเกร็งกระตุกอย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุของโรคลมชักเกร็งกระตุก การป้องกันสาเหตุโรคนี้ที่พอป้องกันได้ ได้แก่

  • การป้องกันการติดเชื้อที่สมอง/สมองอักเสบ: อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สมองอักเสบ
  • การป้องกันอุบัติเหตุที่สมองเช่น การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การเคารพกฏจราจร เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ และ
  • การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง: อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง

สรุป

ผมหวังว่าผู้อ่านจะรู้จักการชักแบบเกร็งกระตุกนี้ดีขึ้น ให้การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการได้เหมาะสม และเข้าใจว่าคนที่มีอาการชักก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆได้ อย่ารังเกียจคนที่มีอาการชัก