ชวนเชิญ เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ (ตอนที่ 2)

การบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการวิ่งออกกำลังกาย (Running injury) เป็นเรื่องที่น่ารู้ แต่ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่ระบุแน่นอนว่าคนประเภทไหนจึงจะได้รับหรือไม่ได้รับบาดเจ็บจากการวิ่ง กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ เชื่อกันว่าการวิ่งต่ำกว่า 20 ไมล์ (ประมาณ 32 กิโลเมตร) ต่อสัปดาห์จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการบาดเจ็บลงได้

อย่างไรก็ตาม การทบทวนกรณีศึกษาหลายกรณีที่ศึกษาหัวข้อเดียวกัน (Meta-analysis) ที่สรุปอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการวิ่ง และได้ตีพิมพ์ผลลัพธ์ที่น่าสนใจไว้ดังนี้:

  • อาการบาดเจ็บโดยรวมที่เกิดกับบริเวณขา (Low-extremity) นั้น มีเปอร์เซ็นต์การเกิดตั้งแต่ 19.4% ถึง 79.3 % จะเห็นได้ว่าโอกาส การเกิดนั้นมีขอบเขตที่กว้างมาก จึงยากที่จะคาดเดาว่าใครจะได้รับบาดเจ็บ
  • บริเวณที่เด่นที่สุดที่มักได้รับบาดเจ็บ คือ หัวเข่า
  • สำหรับประเด็นเรื่องอายุ มีผลสรุปที่ขัดแย้งกันจากกรณีศึกษาที่มีคุณภาพทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งบอกว่าอายุมากนั้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งของการบาดเจ็บจากการวิ่ง ขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่าอายุที่มากขึ้นถือเป็นปัจจัยป้องกันการบาดเจ็บที่สำคัญ
  • การเพิ่มระยะทางการวิ่งต่อสัปดาห์นั้น ไม่ใช่ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ตรงกันข้าม อาจเป็นปัจจัยป้องกันเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากนักวิ่งที่เพิ่มระยะทางการวิ่งนั้น มักจะเป็นนักวิ่งที่สุขภาพแข็งแรง
  • การวิ่งมากกว่า 40 ไมล์ (ประมาณ 64 กิโลเมตร) ต่อสัปดาห์ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง ทั้งสำหรับเพศชายและหญิง ที่จะเกิดการบาดเจ็บช่วงขาจากการวิ่ง แม้ว่าความเสี่ยงในเพศชายจะสูงกว่า เพราะมักมีน้ำหนักตัวเยอะกว่าเพศหญิงก็ตาม
  • ขัดแย้งกับความเชื่อส่วนใหญ่ การอุ่นร่างกายก่อนการวิ่ง (Warm-up) ไม่ได้มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ขาเลย
  • ส่วนของร่างกายที่มักได้รับบาดเจ็บบ่อยที่สุดคือ หัวเข่า (7.2%-50.0%) หน้าแข้ง (9.0%-32.2%) เท้า (5.7%-39.3%) และต้นขา (3.4%-16.6%) ส่วนบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บน้อยกว่า คือ ข้อเท้า (3.9%-16.6%) และสะโพกหรือกระดูกเชิงกราน (Pelvis) (3.3%-11.5%)
  • สำหรับนักวิ่งที่เคยบาดเจ็บมาก่อน ควรคอยสังเกตสัญญาณ (Sign) ของการบาดเจ็บ และไม่ควรหักโหมเกินไป (เช่น ไม่ควรวิ่งเกิน 40 ไมล์ หรือประมาณ 64 กิโลเมตรต่อสัปดาห์) และควร ให้เวลาตัวเองในการพักฟื้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หากต้องการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการวิ่งออกกำลังกาย เรายังสามารถเลือกออก กำลังกายประเภทอื่นๆ ที่ได้บริหารกล้ามเนื้อ และช่วยดึงเอาออกซิเจนเข้าร่างกาย อย่างปีนเขา จ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค สเก็ต และว่ายน้ำ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. [Running] What about the risk of running injuries? http://www.medicinenet.com/running/page5.htm#risk [2012, November 7].