ชวนเชิญ เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ (ตอนที่ 1)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข สมาพันธ์ ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “วันวิ่งเพื่อสุขภาพไทย 2555 - Thai Health Day Run 2012” รณรงค์เดินวิ่งพร้อมกันทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นคน ในวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2555

การรณรงค์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกกำลังกายด้วยการเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพ ให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน และคนวัยทำงานได้ออกกำลังกาย ด้วยการ เดิน วิ่ง เพื่อสุขภาพอย่างถูกวิธีเพิ่มมากขึ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่อยากเริ่มต้นหัดวิ่งเพื่อสุขภาพ

การวิ่งนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการออกกำลังกายที่มีพลังกระฉับกระเฉง (Vigorous exercise) ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก การออกกำลังกายนั้นมีการตอบสนองต่อปริมาณ (Dose response) ความหมายก็คือ คุณยิ่งออก กำลังกายมากเท่าไหร่ หรือหนักเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้ประโยชน์เท่านั้น ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างมีพลังกระฉับกระเฉง อย่างการวิ่งนั้น จึงยิ่งเกิด ประโยชน์ที่มากกว่าการออกกำลังกายชนิดอื่น

กรณีศึกษาหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า คนที่วิ่งมากกว่า 50 ไมล์ (ประมาณ 80 กิโลเมตร) ต่อสัปดาห์นั้น มีคลอเรสเตอรอล HDL (High Density Lipoprotein) หรือไขมันดีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดของไขมันที่สะสมตาม ร่างกาย หรือสารไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ที่เป็นโทษกับร่างกาย และลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease) มากกว่าคนที่วิ่งน้อยกว่า 10 ไมล์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) ต่อสัปดาห์

นอกจากนี้คนที่วิ่งเป็นระยะทางยาวยังมีการลด ภาวะความดันเลือดสูง (High blood pressure) ลง ถึง 50% และยังใช้ยาเพื่อลดภาวะความดันเลือดและไขมันคลอเรสเตอรอล (Plasma cholesterol) น้อยลงกว่า 50% อีกด้วย

การวิ่งยังเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น (Cardio-respiratory fitness) ด้วยการช่วยเพิ่มการทำงาน ของเอนไซม์และฮอร์โมน ที่ไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อและหัวใจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นักวิ่งระยะไกลจึงมีความสามารถในการรับเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ได้ดีกว่าคนทั่วไปที่ไม่ค่อยออกกำลังกายถึง 3 เท่า

เหตุผลก็คือ เมื่อคุณแข็งแรงและมีการรับเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น หัวใจของคุณก็จะปั๊มเลือดและ ออกซิเจนเข้าไปในการเต้นแต่ละครั้งของหัวใจ (เรียกกันว่า “Stroke volume” หรือ ปริมาตรเลือดหัวใจบีบต่อครั้ง) และกล้ามเนื้อ ก็จะสามารถดึงออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีออกซิเจนอยู่ 100 โมเลกุลในกระแสเลือด กล้ามเนื้อที่ได้รับการออกกำลัง (Conditioned) มาแล้วจะสามารถดึง ออกซิเจนได้ถึง 75 โมเลกุล ในขณะที่กล้ามเนื้อที่ไม่ได้รับการฝึกออกกำลัง (Deconditioned) จะสามารถดึงได้แค่ 30 โมเลกุล หรือ น้อยกว่านั้น

สำหรับคำถามยอดนิยมเกี่ยวกับการวิ่งและลดน้ำหนักนั้น แม้จะไม่มีงานวิจัยที่สรุปได้แน่นอนว่าการวิ่งช่วยเผาผลาญ ไขมันหรือช่วยลดน้ำหนักอย่างไร แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีพลังกระฉับกระเฉง อย่างการวิ่งนั้น ย่อมช่วยเผาผลาญไขมันแน่นอน แต่ประเด็นหลักของการลดน้ำหนักนั้น ไม่ได้มีเพียงการออกกำลังกายให้หนัก เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยสมดุลของการกินอาหารในประมาณและแคลอรีที่พอเหมาะด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. “Thai Health Day Run 2012" ระดมนักวิ่งหมื่นคน 4 พ.ย.นี้ http://www.manager.co.th/Sport/ViewNews.aspx?NewsID=9550000131672&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 6].
  2. [Running] What are the health benefits of running?. http://www.medicinenet.com/running/page2.htm [2012, November 6].
  3. [Running] What are the fitness benefits of running?. http://www.medicinenet.com/running/page3.htm [2012, November 6].