ฉุกเฉินถ้วนหน้า หนึ่งเมษาได้ฤกษ์ (ตอนที่ 1)

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายรับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ได้เข้ารับการบริการใน โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 นี้

ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก

นอกจากนี้ยังรวมภาวะช็อกจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขา อ่อนแรงพูดไม่ชัด ชักตลอดเวลา หรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น ซึ่งอาการฉุกเฉินนอกเหนือจากนี้ หากไม่แน่ใจโปรดโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอคำปรึกษาและบริการช่วยเหลือต่อไป

การอยู่ในแผนกฉุกเฉินอาจสร้างความเครียดขึ้นได้ ดังนั้นควรเรียนรู้ถึงสิ่งที่ผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วย จะประสบพบเห็น เมื่อผู้ป่วยเดินทางมาถึงแผนกฉุกเฉิน (Emergency Department: ED) ของโรงพยาบาล คนแรกที่ผู้ป่วยจะได้พบ คือพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญคัดกรอง (Triage) ฉุกเฉิน

เธอจะประเมินความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ระบบคัดกรองดังกล่าวใช้เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ป่วยที่มีภัยคุกคามถึงชีวิต (Life-threatening) ได้รับการดูแลก่อนผู้ป่วยอื่น โดยทั่วไป ระบับคัดกรองมี 5 ระดับ ได้แก่

  1. วิกฤต (เป็นภัยคุกคามถึงชีวิต)
  2. ฉุกเฉิน (อาจกลายเป็นภัยคุกคามถึงชีวิต)
  3. เร่งด่วน (แต่ไม่เป็นภัยคุกคามถึงชีวิต)
  4. รีบด่วน (ต้องรีบรักษา ถ้าเป็นไปได้)
  5. ไม่รีบด่วน (สามารถรอรักษาเมื่อเวลาอำนวย)

ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาทันทีที่เป็นไปได้ แต่ถ้ามีผู้ป่วยอื่นที่มาถึงแผนกฉุกเฉินหลัง แต่มีความรีบด่วนที่ต้องได้รับการรักษาก่อน ก็ต้องให้แซงคิวไปถ้าเขาได้รับการประเมินแล้ว อยู่ในระดับคัดกรองที่สูงกว่า หลังจากที่ผู้ป่วยได้พบพยาบาลคัดกรองแล้ว อาจได้รับการร้องขอให้คอยในห้องฉุกเฉิน จะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากกว่า และแผนกฉุกเฉินยุ่งเหยิงแค่ไหน

ในบริเวณที่รอคอยอาจดูเงียบเชียบ แต่มิได้หมายความว่า แผนกฉุกเฉิน จะไม่มีงานทำ การรอคอยอาจทำให้ผู้ป่วยอึดอัดใจ แต่เป็นสิ่งจำเป็น ผู้ป่วยควรทำตัวให้สบาย หากอาการของผู้ป่วยเปลี่ยนไประหว่างรอคอย ผู้ป่วยควรแจ้งให้พยาบาลคัดกรองทราบและระหว่างรอคอย ผู้ป่วยไม่ควรดื่มหรือรับประทานอาหารก่อนได้พบแพทย์ เพราะอาจต้องมีการตรวจวิเคราะห์ (Test) หรือทำหัตถการ (Procedure) ต้องสอบถามพยาบาลคัดกรองหากผู้ป่วยมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. ปลัด สธ.มั่นใจเดินเครื่องป่วยฉุกเฉินรักษาทุก รพ. ไม่ปฏิเสธผู้ป่วย http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000037283 [2012, March 29].
  2. Emergency patient information. http://www.austin.org.au/Page.aspx?ID=58 [2012, March 29].