ฉีดกลูตาไธโอน ระวังโดนภัยไม่รู้ตัว

นพ. จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบวัยรุ่นไทยทั้งชาย-หญิง และเพศที่สามอายุประมาณ 14 ปี นิยมฉีดกลูตาไธโอนบ่อยๆ หวังผิวขาวสวย-หล่อเหมือนดาราเกาหลี ซึ่งมีสิทธิ์ตาบอด หรือเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยได้เผยว่า ปกติใช้สารนี้กับผู้ป่วยโรคตับอักเสบ เพราะมีคุณสมบัติขับสารพิษในร่างกาย แต่ไม่ได้ให้ใช้กับคนปกติ

หน่วยงานด้านสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็น สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แพทยสภา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ยังไม่รับรองความปลอดภัยของการฉีดกลูตาไธโอนเพื่อทำให้ผิวขาวแต่อย่างใด เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลเสียในระยะยาวที่ยังไม่มีการประเมินได้ชัดเจน ส่วนกลูตาไธโอนชนิดใช้รับประทานนั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ขึ้นทะเบียนรับรอง โดยอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีผลต่อสุขภาพน้อยกว่า แต่หากกินนานๆ ก็อาจรบกวนการทำงานของไตได้เช่นกัน

กลูตาไธโอน (Glutathione) เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ปกติแพทย์จะใช้ในปริมาณเพียง 200 มิลลิกรัมต่อครั้ง ในกลุ่มคลินิกเสริมความงาม มักอ้างว่าเป็นสารใช้ผสมกับวิตามินซี ฉีดทำดีท็อกซ์ผิวขาว อันที่จริงกลูตาไธโอน ประกอบด้วย กรดอะมิโน 3 ตัว ซึ่งร่างกายสามารถผลิตได้เองตามธรรมชาติ และมีในอาหาร เช่น นม ไข่ ผลอะโวคาโด สตรอเบอร์รี มะเขือเทศ ผักบรอคโคลี ส้มเกรปฟรุต และผักโขม

กลูตาไธโอน ช่วยกำจัดพิษออกจากร่างกาย (Detoxification) โดยไปเปลี่ยนสารพิษชนิดไม่ละลายในน้ำ (แต่ละลายในน้ำมัน) อาทิ พวกโลหะหนัก สารระเหย ยาฆ่าแมลง และยาบางชนิด ให้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ดีขึ้น และง่ายต่อการกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันตับจากการถูกทำลายโดย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารพิษจากบุหรี่ และจากยาแก้ปวดพาราเซตามอลเกินขนาด (Overdose)

กลูตาไธโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) จึงช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย สารนี้เป็นสารสำคัญตัวหนึ่งในร่างกาย และหากขาดหายไป วิตามินซีและอี อาจจะทำงานได้ไม่เต็มที่

กลูตาไธโอนยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย (Immune Enhancer) โดยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์หลายชนิดเพื่อให้ร่างกายต่อต้านสิ่งแปลกปลอม รวมถึงเชื้อแบคทีเรียและไวรัส และช่วยสร้างและซ่อมแซม DNA จึงสามารถนำมารักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ข้ออักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคตับ โรคไต โรคเอดส์ ภาวะเป็นหมันในเพศชาย และภาวะหูตึงจากเสียงดัง

กลูตาไธโอน มีผลข้างเคียงทำให้ผิวขาว เนื่องจากมีคุณสมบัติสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวหรือที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) จึงมีการนำกลูตาไธโอนไปฉีดเพื่อให้ผิวขาว แต่จะมีผลเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อสารหมดฤทธิ์ผิวก็จะกลับมามีสีเหมือนเดิมอีก และเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เม็ดสีผิวลดลง ภูมิต้านทานของผิวจะลดลง เกิดการระคายเคืองแพ้แสงแดดได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหน้าได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดผลกระทบต่อจอตาโดยตรง ซึ่งมีหน้าที่รับแสงในการมองเห็น ทำให้จอประสาทตาอักเสบได้ง่าย และหากเกิดการอักเสบบ่อยๆ อาจถึงขั้นตาบอดได้

เมื่ออายุคนเรามากขึ้นปริมาณกลูตาไธโอนในร่างกายจะลดน้อยลง มีผลทำให้เซลล์และอวัยวะทุกส่วนเสื่อมโทรมลง ในทางตรงกันข้าม นักวิจัยพบว่าผู้ที่มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรง มักจะตรวจพบสารกลูตาไธโอนปริมาณสูงในกระแสเลือด

แหล่งข้อมูล:

  1. ฮิตเกาหลีฉีดกลูตาฯ เสี่ยงบอด-มะเร็งผิว http://www.thaipost.net/news/131211/49559 [2011, December 19].
  2. กลูตาไธโอน http://th.wikipedia.org/wiki/กลูตาไธโอน [2011, December 19].