จี้หัวใจสยบไหลตาย (ตอนที่ 2)

จี้หัวใจสยบไหลตาย

นอกจากนี้แล้ว นพ. กุลวี ยังได้บุกเบิกวิธีการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency ablation) ผ่านสายจี้ บริเวณจุดที่มีปัญหา ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี 3-Dimention electroanatomical mapping มาจำลองภาพ 3 มิติของหัวใจ เพื่อให้แพทย์มองเห็นการทำงานของกระแสไฟฟ้าหัวใจได้ชัดเจน และค้นหาตำแหน่งที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ โดยวัตถุประสงค์การรักษาแนวทางนี้คือมุ่งรักษาโรคให้หายขาด ต่างจากการใส่เครื่องกระตุกหัวใจที่ไม่ใช่ทางแก้ แต่เป็นการป้องกันการเสียชีวิตเท่านั้น

อย่างไรก็ดี วิธีการรักษาด้วยวิธีจี้หัวใจ นอกจากต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้ค้นหาตำแหน่งผิดปกติได้อย่างแม่นยำแล้ว ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ทักษะและความชำนาญของแพทย์ผู้ทำการรักษา

นพ. กุลวี กล่าวอีกว่า แนวคิดในการพัฒนาเทคนิคการรักษานี้คือ หวังว่าจะสามารถเข้ามาทดแทนการใส่เครื่องกระตุกหัวใจได้ เพราะการใส่เครื่องกระตุกหัวใจจะต้องใส่เครื่องมือนี้ไปตลอดชีวิต และระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้อาจเสี่ยงมีปัจจัยแทรกซ้อนได้ เช่น ฉนวนของสายไฟรั่วและทำให้เครื่องไม่ทำงาน หรือเกิดการติดเชื้อได้หากเปลี่ยนเครื่องบ่อยๆ

นอกจากนี้ เทคนิคดังกล่าวยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย เนื่องจากการใส่เครื่องมือแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องใส่เครื่องมืออีกหลายครั้งตลอดชีวิต ดังนั้น หากสามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการ และทำการรักษาด้วยการจี้หัวใจตั้งแต่แรกย่อมทำให้เกิดการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกแก่ผู้ป่วย

โรคใหลตาย (Brugada syndrome) เป็นความผิดปกติของการเต้นของหัวใจด้านล่าง (Ventricular arrhythmias) ที่ทำให้เสียชีวิตได้ มักพบในเพศชาย โดยหลายคนที่เป็นโรคนี้จะไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่สามารถตระหนักได้ถึงโรคที่เป็น

โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้อาการแย่ลง (Aggravating medications) ลดอาการเป็นไข้ และฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable cardioverter-defibrillator = ICD)

อาการของโรคนี้คล้ายกับปัญหาหัวใจเต้นผิดปกติทั่วไป สัญญาณที่สำคัญของโรคใหลตายที่เรียกว่า Type 1 Brugada ECG pattern สามารถพบได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram = ECG) นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ เช่น

  • หมดสติชั่ววูบ (Syncope)
  • หัวใจเต้นเร็วหรือไม่สม่ำเสมอ (Palpitations)
  • หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden cardiac arrest)

การเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะจะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ หากเป็นระยะสั้นจะทำให้เกิดอาการเป็นลม หากเป็นนานก็จะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden cardiac death)

แหล่งข้อมูล

1. จี้หัวใจ พิชิตโรคใหลตาย.http://manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9590000031508 [2016, April 9].

2. Brugada syndrome. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/brugada-syndrome/basics/definition/con-20034848 [2016, April 9].

3. Brugada syndrome. http://emedicine.medscape.com/article/163751-overview [2016, April 9].