จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 84 : บทอวสาน

จิตวิทยาวัยรุ่น

ใน 83 ตอนที่ผ่านมา เราพบว่า วัยรุ่น (Adolescence) เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงจากพัฒนาการทางร่างกาย (Physical) และจิตใจ (Psychological) ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้มีอายุที่เริ่มเจริญพันธุ์ (Puberty) กับวัยผู้ใหญ่ (Adulthood) ช่วงวัยนี้จะแตกต่างไปตามวัฒนธรรมที่อาจเริ่มต้นเร็วกว่านี้ หรือสิ้นสุดช้ากว่านี้

สมองของวัยรุ่น ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการทางร่างกายด้วย โดยจุดเชื่อมโยง (Connection) ต่างๆ มีการเพิ่มเติม และลดลง (Prune) ในบรรดาเซ็ลล์สมอง โดยเฉพาะในเปลือกสมองส่วนหน้า (Pre-frontal cortex) ที่รับผิดชอบต่อการควบคุมและวางแผนกะทันหัน (Impulse) และระบบการแตกแขนง (Limbic) ของสมอง ซึ่งประมวลอารมณ์ความรู้สีก (Emotional processing)

ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) วัยรุ่นครอบคลุมช่วงอายุระหว่าง 10 ปี ถึง 20 ปี และเป็นวัยของชีวิตที่ค่อนข้างจะผันผวน (Unstable) แต่มีชีวิตชีวา (Vibrant) ดังนั้น จิตวิทยาวัยรุ่น (Adolescent psychology) จึงเป็นเรื่องราวของการจัดการกับนานาประเด็นของวัยรุ่นโดยตรง

ในปัจจุบัน นักจิตวิทยาทั่วโลกเข้าใจดีว่า วัยนี้มีความแตกต่าง [จากวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่] อย่างเห็นได้ชัด และนำไปสู่สาขาวิชาเฉพาะทาง ที่ยอมรับโดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association : APA) ขอบเขตของจิตวิทยาวัยรุ่นครอบคลุมถึงการเจริญเติบโตของร่างกาย ซึ่งนำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ และบางครั้งนำไปสู่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

นอกจากนี้ วัยรุ่นยังมีแนวโน้มที่จะทดลองเสพยาเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์ ในบางกรณี ปัญหาทางสมอง (Cerebral) อาทิ โรคจิตเภท (Schizophrenia) ความผิดปรกติของการกิน (Eating disorder) และโรคซึมเศร้า (Depression) อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นได้เช่นกัน

ความไม่มั่นคงในอารมณ์ (Emotional insecurity) ในบรรดาวัยรุ่น มักมีแนวโน้มเป็นสาเหตุของอาชญากรรม และการค้นหาอัตลักษณ์ (Identity) ที่โดดเด่นของตนเอง นอกจากนี้ ยังเป็นวัยที่แต่ละบุคคลจะแสดงออกซึ่งความต้องการเลียนแบบ “ตัวอย่างบทบาท” (Role model) ที่ตนเองชื่นชม อาทิ ยอดนิยมของนักกีฬา นักร้อง ดาราภาพยนตร์ และนักแสดงโทรทัศน์

ความสัมพันธ์กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) ก็มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์จิตวิทยาวัยรุ่น ประมาณ 90% ของวัยรุ่นผูกพันตนเองกับกลุ่ม ดังนั้นหากได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนฝูง จะลดโอกาสที่เกิดความรู้สึกซึมเศร้าหรือเผชิญกับความกังวล (Anxiety) ในทางกลับกัน ผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะลักษณะพฤติกรรมของวัยรุ่นได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสังคมเพื่อนฝูง จิตวิทยาวัยรุ่นได้รับความสนใจมากขึ้นในระยะหลังเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของกรณีต่างๆ เหล่านี้

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Adolescence Psychology - http://ezinearticles.com/?Adolescent-Psychology&id=354549 [2015, April 14].