จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 79 : วัยรุ่นฆ่าตัวตาย (3)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เราตั้งข้อสังเกตจากกรณีทั้ง 4 รายได้ว่า ครอบครัวและเพื่อนๆ ไม่เชื่อว่า 2 ใน 4 ราย จะเคยคิดฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ โดยที่กรณีหนึ่งเป็นเรื่องของวัยรุ่นที่เรียนเก่งมาก และอีกคนเป็นนักเรียนยอดนิยมที่เคร่งครัดในศาสนา ส่วนในอีก 2 ราย วัยรุ่นคนหนึ่ง เคยคิดที่จะฆ่าตัวตาย ส่วนอีกคนหนึ่ง ได้พยามฆ่าตัวตายมาแล้ว

ดังนั้น เมื่อวัยรุ่นพูดถึงเรื่องฆ่าตัวตาย พ่อแม่และเพื่อนๆ ควรจะต้องใส่ใจอย่างจริงจัง ส่วนในกรณี 2 รายแรก ปัญหา อาการ หรือเหตุการณ์ที่นำไปสู่ (หรือกระตุ้น [Trigger] ให้เกิด) การฆ่าตัวตาย อาจไม่ปรากฏสัญญาณให้เห็นได้ชัดเจน

การสำรวจโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) พบว่า 1 ใน 12 คนของนักเรียนมัธยมปลาย (High School) เคยพยายามฆ่าตัวตาย และประมาณ 24 คน ใน 100 คน ได้มีความคิดจริงจังกับการฆ่าตัวตาย เนื่องจากการฆ่าตัวตาย เป็นอันดับ 3 ของสาเหตุหลักของการตายในวัยรุ่น นักบำบัด [จิต] (Therapist) ได้เสนอแนะโปรแกรม 3 ขั้นตอนที่จะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายในที่สุด

ขั้นตอนแรกคือการแยกแยะปัจจัยเสี่ยงอันได้แก่ ความซึมเศร้า (Depression) การเสพยาเสพติด (Drug abuse) การพยายามฆ่าตัวตายก่อนหน้านี้ การฆ่าตัวตายของเพื่อนเมื่อเร็วๆ นี้ และ “ตัวสร้างความเครียด” (Stressor) ในชีวิต อาทิ ความปั่นป่วนภายในครอบครัว หรือการหย่าร้างของพ่อแม่ วัยรุ่นที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ตกอยู่ในภาวะใกล้อันตราย (Imminent) ของการฆ่าตัวตาย วิธีการแยกแยะความเสี่ยงดังกล่าวประกอบด้วย โปรแกรมพิเศษสำหรับป้องกันการฆ่าตัวตายในโรงเรียน และกลุ่มสนับสนุนในบรรดาครอบครัวที่จะรับมือกับชีวิตและ "ตัวสร้างความเครียด" ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อม

ขั้นตอนที่ 2 คือการบริหารวิกฤต (Crisis management) CDC แนะนำหลังจากการมีฆ่าตัวตายในโรงเรียน หรือท้องถิ่น ว่าควรส่งทีมวิชาชีพทางสุขภาพจิต ไปยังที่เกิดเหตุเพื่อคัดกรอง (Screen) นักเรียนวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย ตัวอย่างเช่น ในแบบสอบถาม (Questionnaire) ที่คัดกรองนักเรียนวัยรุ่นจำนวน 2,000 คน พบว่า ประมาณ 3% ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากครูที่ปรึกษา (Counselor)

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การให้บริการสายด่วน (Hot line) เหตุผลสำหรับการมีบริการสายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง ก็คือพฤติกรรมฆ่าตัวตายที่มักจะสัมพันธ์กับสถานการณ์วิกฤต ระหว่างนักเรียนวัยรุ่น อาจมีความจำเป็นหรือต้องการคุยกับใครก็ได้อย่างรีบด่วน ซึ่งจะเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้าย (Last resort) ที่จะต้องร้องขอความช่วยเหลือ บริการสายด่วน อาจเข้าถึงวัยรุ่นที่ยากจน หรือปราศจากการคุ้มครองทางสุขภาพ อันเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการบำบัดจากสถานสุขภาพจิต

การรวมโปรแกรมเหล่านี้เข้าด้วยกันในโรงเรียนและชุมชน จะช่วยในการแยกแยะและป้องกันโอกาสการฆ่าตัวตายในบรรดาวัยรุ่น มีตัวอย่างของกรณีฆ่าตัวตายที่ลดลง 50% หลังจากโปรแกรมต่อต้าการฆ่าตัวตาย (Anti-suicide) ได้รับการติดตั้งในโรงเรียน แม้ว่าวัยรุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง แต่กลุ่มที่มีอัตราสูงสุด กลับเป็นกลุ่ม [เรามักจะไม่ค่อยได้ยิน] ของผู้สูงอายุ

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Youth suicide - http://en.wikipedia.org/wiki/Teenage_suicide [2015, March 29].