จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 77 : วัยรุ่นฆ่าตัวตาย (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

วิถี (Style) ของพ่อแม่ มีอิทธิพลสูงต่อลูกวัยรุ่น ไม่ว่าลูกวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมเสี่ยง (อาทิ เสพยาเสพติด และ “ชิงสุกก่อนห่าม”) หรือไม่ และบ่อยถี่แค่ไหน นักวิจัยรายงานว่า การสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น จะทำให้ลูกวัยรุ่นมีความเสี่ยงลดน้อยลง แต่ผลสรุปนี้เป็นจริงตราบเท่าที่วัยรุ่นสามารถสื่อสารอย่างเปิดเผยอย่างน้อยกับพ่อหรือแม่ คนใดคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง ที่พ่อแม่พึงระวังก็คือ การฆ่าตัวตาย (Suicide) ในบรรดาวัยรุ่น สถิติในสหรัฐอเมริกาชี้ชัดว่า วัยรุ่นอายุระหว่าง 15 ปี ถึง 19 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้นเกือบ 4เท่าตัว จากประมาณ 3.5 คน ใน 100,000 คน ในปี พ.ศ. 2503 ไปเป็น 11.1 คนใน 100,000 คน ในปี พ.ศ. 2537 ในปัจจุบัน การฆ่าตัวตายในกลุ่มอายุนี้ กลายเป็นอันดับ 3 ของสาเหตุหลักการตาย โดยที่หนุ่มวัยรุ่นผิวขาว มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุด กล่าวคือ 8 คน ใน 100,000 คน

การสำรวจเมื่อเร็วๆ ในกลุ่มวัยรุ่นมัธยมศึกษาตอนปลาย (High School) รายงานว่า ประมาณ 22% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยพิจารณาฆ่าตัวตาย ใน 1 ปีที่ผ่านมา คำถามยอดนิยมในเรื่องนี้ก็คือ (1) ปัญหาของการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นคืออะไร? และ (2) เราจะป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายนี้ได้อย่างไร?

ในช่วงเวลาเพียง 5 สัปดาห์ มีวัยรุ่น 4 คน ฆ่าตัวตายในเมืองเล็กๆ ทางใต้ของนคร Sheridan รัฐอาร์คันซอส์ โดยคนหนึ่งเป็นวัยรุ่นที่เรียนเก่งมาก (ได้คะแนน A ทุกวิชาที่เรียน) อีกคนหนึ่งเป็นดาวตลกของชั้นเรียน (Class clown) คนถัดไปเป็นที่เคร่งครัดในศาสนา และคนสุดท้ายเป็นนักเรียน “เจ้าปัญหา” (Troubled)

กรณีแรก เรย์ม่อนด์ (Raymond) อายุ 17 ปี ฆ่าตัวตายวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2533 ตามสำนวนการสอบสวนของตำรวจ เรย์มอนด์ ได้ขู่จะฆ่าตัวตายหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา แต่คนรอบข้างคิดว่า เป็นมายาแสแสร้ง (Histrionics) มากกว่า เขามีปัญหาการดื่ม [แอลกอฮอล์] และเคยถูกจับเรื่อง “เมาแล้วขับ” มาแล้ว

เขาเคยถูกส่งตัวไปศูนย์บำบัด [สภาพจิต] (Rehabilitation center) เป็นเวลาหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เรย์ม่อนด์จะยิงตัวตาย ชีวิตของเขาดูจะดีขึ้นและวางแผนจะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เขาทิ้งข้อความสั่งเสียให้แฟนสาวของเขาว่า “อย่าตำหนิตนเอง นี่ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งสิ้น”

กรณีที่สอง ทอมมี่ (Tommy) อายุ 16 ปี ฆ่าตัวตายวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2533 เพื่อนๆ ของเขามองว่า เขาเป็นดาวตลก แต่เพื่อนสนิทของเขา รอนด้า (Rhonda) ไม่เชื่อเช่นนั้น เธอคิดว่า การมีไหวพริบ (Clever wit) และการติดตลก ของเขาเป็นหน้ากากปิดบังความรู้สึกที่ไม่มั่นคงมากกว่า

ในคืนก่อนวันเกิดเหตุ ทอมมี่โทรศัพท์หารอนด้าตามปรกติ และบอกเธอว่า เขากำลังจะฆ่าตัวตาย เธอแน่ใจว่าเขาคงไม่ทำตามคำขู่ จึงบังคับให้เขาสัญญาจะว่ามาโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น ทอมมี่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น แต่ในชั้นเรียน เขาลุกขึ้นยืนแล้วแจ้งว่า เขามี 2 อย่างที่จะพูด อย่างแรก เขากล่าวว่า เขารักรอนด้า แม้ว่าเขาไม่เคยนัดไปเที่ยว-กินอาหาร (Date) ด้วยกันเลย และ “อย่างที่ 2 คือสิ่งนี้” เขาควักปืนออกจากกระเป๋าแล้วยิงตัวตาย

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Youth suicide - http://en.wikipedia.org/wiki/Teenage_suicide [2015, March 21].