จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 75 : การปรับตัวของวัยรุ่นในโรงเรียน (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

นักการศึกษามีความกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ ที่มักเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนต้อง “เปลี่ยนผ่าน” (Transit) จากโรงเรียนประถมศึกษาไปยังมัธยมศึกษา อาทิ การประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ที่สูญเสียไป ความสนใจในโรงรียนที่ลดลง คะแนนสอบที่ตกต่ำ และการก่อปัญหาที่เพิ่มขึ้น

เหตุผลของความยากในการ “เปลี่ยนผ่าน” ก็คือวัยรุ่น (โดยเฉพาะสาววัยรุ่น) มักประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย (Physical) และจิตใจ (Psychological) ในเวลาเดียวกันกับที่ต้องเปลี่ยนโรงเรียน นักวิจัยพบว่า สาววัยเจริญพันธุ์ (Puberty) มักประเมินคุณค่าในตนเองที่ต่ำลง และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ก็เป็นไปในทางลบ

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดของอุปสรรคทางการเรียนและทางอารมณ์ความรู้สึก นอกเหนือไปจากความปั่นป่วน (Turmoil) ในครอบครัว หรือการย้ายบ้าน เป็นต้น หากวัยรุ่น ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ ในเวลาเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจของวัยเจริญพันธุ์ ก็จะสามารถรับมือกับปัญหาการเรียน และการปรับตัวได้ดีขึ้น

และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งในการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (Middle school) ระดับ (Grade) 6 ถึง 8 ที่อยู่ระหว่างโรงเรียนประถมศึกษา (Elementary school) กับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (High school) ในสหรัฐอเมริกา แทนระบบเดิมที่รวมระดับ 7 กับ 8 ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่เรียกว่า “Junior high school”

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิจัยอื่น ที่รายงานว่า ประเด็นมิได้อยู่ที่ประเภทไหนของโรงเรียน [Middle school หรือ Junior high school] แต่อยู่ที่โรงเรียนใหม่ที่นักเรียน “เปลี่ยนผ่าน” ไป ว่าจะสอดคล้อง (Good fit) กับความต้องการในพัฒนาการของวัยรุ่นได้มากน้อยเพียงใด

แล้วอะไรคือความไม่สอดคล้อง (Mismatch)? คำตอบมักอยู่ที่ขนาดของชั้นเรียน ซึ่งมีขนาดเล็กในโรงเรียนประถมศึกษา จึงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ระหว่างครูกับนักเรียน มีทางเลือกกิจกรรมการเรียนรู้มากมาย และมีระเบียบวินัยที่อ่อนโยน (Gentle discipline) ในขณะที่วัยรุ่นกำลังแสวงหาอิสรภาพ (Autonomy) มากขึ้น

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดใหญ่ของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมือนระบบราชการ (Bureacratic) จึงมีความสัมพันธ์ที่ห่างไกลกัน (Impersonal) ระหว่างครูกับนักเรียน โดยเฉพาะการตอกย้ำเรื่องคะแนนสอบสูง (ซึ่งมิได้พบบ่อยก่อนหน้านี้) โอกาสจำกัดของกิจกรรมการเรียน และระเบียบวินัยที่เข้มงวด (Rigid) ซึ่งไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของวัยรุ่น และจะมีอิทธิพลสำคัญต่อการปรับตัวของวัยรุ่นในโรงเรียนใหม่

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Tips for Parenting Teens: How to Help Your Teen Adjust to a New School - http://voices.yahoo.com/tips-parenting-teens-help-teen-adjust-7064738.html [2015, March 14].