จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 74 : ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เมื่อหนุ่ม-สาวได้พัฒนามิตรภาพกับเพศตรงข้ามมากขึ้น ก็มักแยกตัวออกเป็นคู่ๆ (Couple) แต่ก็ยังกิน-เที่ยว (Dating) เป็นคู่ใน “กลุ่มชน” (Clique) ย่อยในระยะแรก จากนั้นก็ค่อยๆ แยก (Disintegrate) เป็นคู่เดี่ยว บทบาทของ “ฝูงชน” (Crowd) ก็ลดลงด้วย หลังจากที่ช่วยให้วัยรุ่นสร้าง “อัตลักษณ์ทางสังคม” (Social identity) ในการนำหนุ่ม-สาวมารวมตัวกัน

นักวิจัยอธิบายบทบาทของ “มิตรภาพ” (Friendship) ดังนี้

  • ช่วยให้เหตุผลสนับสนุนความคิดเห็น (Consensual validation)
  • เพิ่ม (Bolster) ความรู้สึกของคุณค่าในตนเอง (Self-worth)
  • สร้างบริบทสำหรับการเปิดเผยเรื่องส่วนตัว (Intimate disclosure)
  • ส่งเสริมให้เข้าใจความรู้สึกระหว่างบุคคล (Interpersonal sensitivity) และ
  • สร้างรากฐานความสัมพันธ์กับคู่รัก (Romantic relationship) และกับพ่อแม่

เมื่อไม่นานมานี้ ผลการวิจัยอธิบายการสนันสนุน (Support) “มิตรภาพ” ที่เพื่อนให้แก่กันและกันใน 4 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้

  1. Informational - การให้คำแนะนำในปัญหาส่วนตัวที่มีกับพ่อแม่ ความสัมพันธ์กับคู่รัก หรือครูและเพื่อนร่วมชั้น
  2. Instrumental - การให้ความช่วยเหลือในภาระงาน อาทิ การบ้าน (Homework) หรืองานเรือน (Chore)
  3. Companionship - การกระทำร่วมกัน อาทิ กินอาหารด้วยกัน และไปงานเต้นรำหรืองานกีฬาด้วยกัน
  4. Esteem - การให้กำลังใจทั้งในยามปรกติ (อาทิ แสดงความยินดีในความสำเร็จ) หรือในยามลำบาก (อาทิ ปลอบใจในความล้มเหลว)

เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น ความคิดในเรื่อง “มิตรภาพ” จะเริ่มเปลี่ยนไป จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม (Concrete) จนกลายเป็นนามธรรม (Abstract) มากขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ “มิตรภา1พ” เริ่มมีเสถียรภาพ และสนองตอบซึ่งกันและกัน (Reciprocal) จนกลายเป็นความใกล้ชิดสนิทสนมในที่สุด

ผลงานวิจัยยังแสดงว่า วัยรุ่นที่คบกันเป็นกลุ่ม (Peer group) เพราะมีคุณลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ที่ไม่แตกต่างกัน มีแนวโน้มที่จะสุงสิง (Affiliate) กับผู้ที่มีอุปนิสัย (Attribute) ที่คล้ายกัน นับเป็น “พลวัตรทางสังคม” (Social dynamic) เรียกว่า “Homophily” กล่าวคือเป็นกลุ่มที่มีศรัทธาและพฤติกรรมหลากหลายร่วมกัน อาทิ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และเสพยาเสพติด

แต่ “Homophily” ก็มีกลุ่มที่สุงสิงกันด้วยคุณลักษณะเฉพาะทางการเรียน (Academic) อาทิ กลุ่มผู้ทำคะแนนสอบได้สูง กลุ่มผู้มีความทะเยอทะยานในการเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา กลุ่มที่ช่วยกันทำการบ้าน และกลุ่มช่วยงานโรงเรียน กระบวนการที่ก่อให้เกิดกลุ่มดังกล่าว แยกแยะเป็น (1) การเข้าสังคม (Socialization) - แนวโน้มของเพื่อนที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นในเรื่องอุปนิสัยเมื่อเวลาผ่านพ้นไป และ (2) การเลือกเข้าสังคม (Selection) - แนวโน้มของการเลือกเพื่อนที่มีอุปนิสัยคล้ายคลึงกัน

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Peer relationships - http://www.education.com/reference/article/peer-relationships/ [2015, March 10].