จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 73 : ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ความสัมพันธ์กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) มีความสำคัญมากในโรงเรียน ในช่วงต้นของวัยรุ่น เขาจะใช้เวลากับเพื่อนฝูงมากกว่าพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติ โดยมักจะรวมตัวกันเป็น “กลุ่มชน” (Clique) ซึ่งมักประกอบด้วยสมาชิก 4 ถึง 8 คน ผู้มี “ค่านิยม” (Value) และความชอบในกิจกรรมเดียวกัน

สมาชิกภาพในกลุ่มชนเพศเดียวกัน มักไม่มีเสถียรภาพ และหนุ่มวัยรุ่นมักเป็นสมาชิกมากกว่าหนึ่ง “กลุ่มชน” ในช่วงกลางของวัยรุ่น ทั้งหนุ่มและสาว เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กันบ่อยถี่ขึ้น และในที่สุดจะก่อร่างเป็น “กลุ่มชน” หนุ่ม-สาวรวมกัน (Heterosexual)

“กลุ่มชน” ดังกล่าวมักจะสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสันและโดดเด่น มีศัพท์แสง (Dialect) ของตนเอง และรูปแบบพฤติกรรมที่ทำให้ “กลุ่มชน” แตกต่างจากผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกของ “กลุ่มชน” สร้างความรู้สึกร่วมเป็นพวกพ้องเดียวกัน (Sense of belongingness) หรืออัตลักษณ์ (Identity) ของ “กลุ่มชน”

นานา “กลุ่มชน” ที่อยู่ในเกณฑ์ปรกติ (Norm) และมี “ค่านิยม” เดียวกัน มักจะรวมตัวกันเป็น “กลุ่มชน” ที่ใหญ่ขึ้น มีการจัดระเบียบแบบหลวมๆ (Loosely organized) จะเรียกว่า “ฝูงชน” (Crowd) ซึ่งได้รับการนิยามตามทัศนคติ (Attitude) และกิจกรรมที่สมาชิกแบ่งปันกัน (Share) โดยเป็นกลไก (Mechanism) ของการนิยาม “กลุ่มย่อยเฉพาะ” (Niche) ของวัยรุ่นในโครงสร้างสังคมที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนมัธยมปลาย (High school)

"ฝูงชน” มักจะมาพบปะรวมตัวกันในกิจกรรมสังคม อาทิ งานเลี้ยงสังสันทน์ การชมกีฬา และการทัศนาจร แต่ละ “ฝูงชน” จะประกอบด้วยบาง “กลุ่มชน” ที่เหมือนกันในวิถีพื้นฐาน (Fundamental) และบาง “กลุ่มชน” ที่แตกต่างจากวัยรุ่น ใน “ฝูงชน”อื่นๆ และกลุ่มเพื่อนฝูงนี้เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นบ่อยในโรงเรียนมัธยมปลาย ไม่เฉพาะในสังคมตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่รวมไปถึงสังคมตะวันออก เช่น ประเทศจีน [และไทย] ด้วย

“ฝูงชน” และ “กลุ่มชน” เป็นหนทางให้วัยรุ่นได้แสดงออกถึงค่านิยม และบทบาทใหม่เมื่อเริ่ม “หล่อหลอม” (Forge) อัตลักษณ์ที่แตกต่างจากครอบครัว และปูเส้นทางไปสู่ความสัมพันธ์รักใคร่ (Romantic) ระหว่างหนุ่ม-สาวในเวลาต่อมา การแบ่งแยกเป็น “กลุ่มชน” ชายหรือหญิง (Gender segregation) จะสิ้นสุดลงในช่วงต้นของวัยรุ่น เมื่อสมาชิกจาก “กลุ่มชน” หนุ่มและ “กลุมชน” สาวเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน

“กลุ่มชน” เพศเดียวกัน เป็นเพียง “ฐานความมั่นใจ” (Secure base) สำหรับการสำรวจหนทางไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสมต่อเพศตรงข้าม ตัวอย่างเช่น การที่หนุ่มวัยรุ่นเริ่มคุยกับสาววัยรุ่น ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวนัก เมื่อมีเพื่อนคู่หู (Buddy) อยู่ข้างๆ เปรียบเทียบกับเมื่อต้องอยู่ตามลำพัง ใน “กลุ่มชน” และ “ฝูงชน” ที่มีหนุ่ม-สาวรวมกัน วัยรุ่นจะมีโอกาสมากมายที่จะได้รู้จักเพศตรงข้าม ในสถานการณ์สังคมที่ไม่เป็นทางการนัก (Casual) โดยไม่ต้องมีความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy) มาก่อน

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Peer relationships - http://www.education.com/reference/article/peer-relationships/ [2015, March 3].