จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 71 : ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

วัยรุ่นที่ปรับตัวได้ดีที่สุด มักเป็นผู้ที่ดำรงความผูกพัน (Attachment) อย่างใกล้ชิดกับพ่อแม่ แม้จะได้รับอิสรภาพ (Autonomy) และเตรียมพร้อมที่จะแยกตัวออกไป [เหมือนนกที่เพิ่งบินออกจากรังเป็นครั้งแรกในชีวิต] ดังนั้น สิ่งที่พึงปรารถนามากที่สุดคือ อิสรภาพกับความผูกพัน และการพึ่งพาตนเอง (Independence) กับ การพึ่งพาระหว่างกัน (Interdependence)

วัยรุ่นมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะเป็นอิสระพอควร ยึดมั่นในความสำเร็จ (Achievement-oriented) และปรับตัวได้ดี ถ้าพ่อแม่รับรู้และยอมรับความจำเป็น [ของวัยรุ่น] ที่ต้องการอิสรภาพ และค่อยๆ คลายการครอบงำ มีผลการวิจัยจำนวนมากที่แสดงว่า พ่อแม่ควรจะเข้มงวดกับกฎเกณฑ์ที่ชอบด้วยเหตุผลเท่านั้นและอย่างสม่ำเสมอ

ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ควรให้ลูกวัยรุ่นมีส่วนร่วมในการถกเถียงและตัดสินใจในประเด็นของการปกครองตนเอง (Self-governance) การเฝ้าติดตาม (Monitor) การออกจากบ้าน-กลับเข้าบ้าน การควบคุมทางจิตวิทยา และการดำรงความอบอุ่นและการสนับสนุน แม้ในท่ามกลางความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

วัยรุ่นที่ได้รับอิสรภาพมากเกินไป มักปรับตัวอย่างลำบากกว่าวัยรุ่นที่พ่อแม่ควบคุมอย่างเข้มงวด นักวิจัยค้นพบว่า พ่อแม่ที่สนับสนุนอิสรภาพ ได้ประสิทธิผลมากที่สุด ไม่ใช่เมื่อส่งเสริมให้ลูกวัยรุ่นตัดสินใจด้วยตนเอง แต่เมื่อเสนอทางเลือกหลากหลาย หลังจากช่วยลูกวัยรุ่นสำรวจ แล้วค่อยให้เขาตัดสินใจด้วยตนเอง ตามแนวทางของความสนใจ จุดมุ่งหมาย และค่านิยมของเขา

วิธีการดังกล่าว เรียกว่า “การส่งเสริมการทำงานของการตัดสินใจ” (Promotion of Volitional Functioning : PVF) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่พ่อแม่แนะนำหรือ “สนับสนุน” (Scaffold) [เหมือน “นั่งร้าน” ที่ค้ำจุนตัวอาคาร] การให้วัยรุ่นตัดสินใจเอง (แทนการบังคับทางออกของประเด็น) หรือการเลิกการควบคุม ย่อมทำให้ลูกวัยรุ่นได้ประสบการณ์ความรู้สึกของการกำหนดตนเอง (Self-determination) ในการแก้ปัญหาส่วนตัว

การยอมรับของพ่อแม่และรูปแบบที่ยืดหยุ่นได้ของการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เป็นวิธีการของพ่อแม่ทรงอิทธิพล (Authoritative) [เปรียบเทียบวิธีการของพ่อแม่เผด็จการ (Authoritarian)] ซึ่งมีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ของพัฒนาการที่ดี (Healthy) ในหลากหลายบริบท

วัยรุ่นที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ มักแปลผล (Interpret) คำถามของพ่อแม่ในเรื่องกิจกรรมของเขา ไปในทางที่เป็นสัญญาณของความห่วงใย (Care) ซึ่งทำให้พ่อแม่ไม่ต้องคอยรบกวนให้รำคาญใจ (Badger) หรือคอยสอดแนม (Snoop) เพื่อสืบทราบว่า ลูกวัยรุ่นกำลังทำอะไรอยู่?

อย่างไรก็ตาม ถ้าพ่อแม่ต่อต้านการต่อสู้ของวัยรุ่น เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ และการควบคุมที่เข้มงวดเกินไป หรือตามใจ (Permissive) เกินไป โดยมิได้ให้วัยรุ่นมีส่วนร่วม วัยรุ่นก็มักจะประสบความทุกข์โศก (Distress) และทำตัวเป็นกบฏ ไม่ค่อยยอมแจ้งบอกกิจกรรมที่ตนเองทำ และในที่สุดลงมักเอยด้วยการก่อปัญหาพฤติกรรม

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Cords - http://www.alchemyrealm.com/cords.htm [2015, February 28].