จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 70 : ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในพัฒนาการที่วัยรุ่นเผชิญ คือการบรรลุสภาวะ “สุกงอม” (Mature) และความรู้สึกเป็นอิสระ (Autonomy) หรือความสามารถที่จะตัดสินใจเองได้ และการจัดการกับชีวิตตนเองโดยไม่ต้องพึงพาผู้อื่นมากเกินไป หากวัยรุ่นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ได้ เขาจะต้องไม่เร่งรีบกลับบ้านไปแสวงหาไออบอุ่น (Loving hug) ทุกครั้งที่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ (Setback) หรือต้องอาศัยพ่อแม่ ให้พาไปที่ทำงานหรือเตือนเขาเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบ

แล้วเกิดอะไรขึ้นภายในระบบครอบครัวเมื่อวัยรุ่นเจริญเติบโตถึงจุดที่ต้องการ “ประกาศอิสรภาพ?” ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างชาวตะวันออก [อาทิ ชาวไทย] กับชาวตะวันตก [อาทิ ชาวอเมริกัน] ความขัดแย้งของพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นในประเด็นขอปกครองตนเอง (Self-governance) จะคล้ายกันในช่วงต้นของวัยรุ่น แล้วค่อยๆ ลดลงในเรื่องความถี่ (Frequency) แม้อาจไม่ลดลงในเรื่องความเข้มข้น (Intensity) ตลอดช่วงเวลาของวัยรุ่น

การทะเลาะเบาะแว้ง (Squabble) นี้ ซึ่งเกิดขึ้นเท่าๆ กัน ในทั้งสองสังคม มักจะไม่ยาวนานหรือร้ายแรง มักวนเวียนอยู่ในประเด็นเรื่องเรือนร่าง การเลือกคบเพื่อน หรือการละเลยงานเรียน (Schoolwork) และงานบ้าน (Household chore) และส่วนใหญ่ของความขัดแย้ง (Friction) เกิดจากมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น

พ่อแม่มองความขัดแย้งผ่านเล็นซ์ของประเพณีปฏิบัติทางสังคม (Social-convention) โดยมีความรู้สึกว่า พ่อแม่ต้องรับผิดชอบต่อการเฝ้าติดตาม (Monitor) และควบคุม (Regulate) ความประพฤติของลูกวัยรุ่น ในขณะที่ลูกวัยรุ่นยึดติดอยู่การแสวงหาอิสรภาพ มองพ่อแม่ที่จู้จี้จุกจิก (Nagging) ว่าเป็นการละเมิด (Infringe) สิทธิและทางเลือกส่วนบุคคล

เมื่อเวลาผ่านพ้นไป วัยรุ่นยังคงกล้ายืนยัน (Assert) ต่อไป แต่พ่อแม่จะค่อยๆ ลดการครอบงำ (Rein) ลง ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น ค่อยๆ วิวัฒนา (Evolve) จากการที่พ่อแม่เป็นผู้ครอบงำไปเป็นสถานะที่พ่อแม่กับลูกวัยรุ่นมีสถานะเท่าเทียมกัน แต่พ่อแม่ชาวตะวันออก จะใช้อำนาจ (Authority) ได้ยาวนานกว่าพ่อแม่ชาวตะวันตก ซึ่งทำให้วัยรุ่นชาวตะวันออกมีความรู้สึกหดหู่กว่า เนื่องจากค่านิยม (Value) ของพ่อแม่ที่สืบทอดต่อกันมาตามประเพณี

นักวิจัยเคยเชื่อมั่นกันว่า เส้นทางของการสู่อิสรภาพที่ดีที่สุดสำหรับวัยรุ่น คือการแยกตัวออกจากพ่อแม่ โดยการตัด “สายอารมณ์” (Emotional cord) [เปรียบเทียบกับ “สายสะดือ” (Umbilical cord) ที่ตัดแยกจากแม่หลังคลอด] ดังนั้น วัยรุ่นที่มองความสัมพันธ์กับพ่อแม่ในลักษณะขัดแย้ง และไม่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ ก็น่าจะปรับตัวได้ดีกว่าหากแยกตัวห่างจากพ่อแม่ แต่ต้องสามารถอาศัยการสนับสนุนของครู พี่ใหญ่ (Big Brother) หรือผู้ใหญ่อื่นที่คอยสอนแนะ (Mentor) จากภายนอกครอบครัว ส่วนวัยรุ่นที่ได้รับความอบอุ่นจากที่บ้านอยู่แล้ว ก็ไม่ควรตัด “สายอารมณ์” เลย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีความผูกพันอย่างมาก (Securely attached) กับครอบครัว มักรู้สึกว่ามีอิสระในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากพ่อแม่และมีจุดยืนของตนเอง โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องการสูญเสียความรักและความอบอุ่นของพ่อแม่

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Cords - http://www.alchemyrealm.com/cords.htm [2015, February 24].