จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 67 : การใช้เหตุผลทางจริยธรรม (3)

จิตวิทยาวัยรุ่น

พัฒนาการทางจริยธรรม ของ ลอเร็นซ์ โคลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg) เริ่มเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย หลังจากที่นักวิจัยอื่นๆ ได้พิจารณาการศึกษาในรูปแบบของเขา 45 ฉบับ ซึ่งดำเนินการในวัฒนธรรม 27 แห่ง ผลการวิจัยส่วนใหญ่แล้ว สนับสนุนข้อสมมุติฐานที่ว่า บุคคลก้าวผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นลำดับ แต่มิใช่ทุกๆ คนจะบรรลุถึงขั้นตอนสุดท้าย

ประเด็นแรก นานาขั้นตอนของลอเร็นซ์ โคลเบอร์กแสดงขั้นตอนประเภทต่างๆ ของการคิดทางจริยธรรมที่อาจหรือไม่อาจพยากรณ์ว่า บุคคลจะประพฤติตัวอย่างไรในทางปฏิบัติจริง ดังนั้นลอเร็นซ์ โคลเบอร์กจึงมุ่งเน้นไปที่พัฒนาความคิดทางจริยธรรม แทนพัฒนาการของพฤติกรรมทางจริยธรรม (Moral behavior)

ประเด็นที่ 2 เป็นข้อเสนอของ แครอล กิลลิแกน (Carol Gilligan) ซึ่งกล่าวว่า ผู้ชายและผู้หญิงอาจแตกต่างกัน ในด้านความคิดจริยธรรม โดยที่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะยึดถือความยุติธรรม (Justice orientation) และผู้หญิงแนวโน้มที่จะยึดถือความเอื้ออาทร (Care orientation)

ในการยึดถือแนวโน้มแรก การตัดสินใจตั้งอยู่บนพื้นฐานของประเด็นทางกฎหมายและความเท่าเทียมกัน ตลอดจนสิทธิมนุษยชน (Human rights) ส่วนในการยึดถือแนวโน้มหลัง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประเด็นความใส่ใจ หลีกเลี่ยงการทำร้ายกัน วิถีที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และวิถีของการคำนึงถึงผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม 15 ปีหลังการศึกษาวิจัย มีการสนับสนุนความคิดของแครอล กิลลิแกน ลดน้อยถอยหลัง การทบทวนเมื่อเร็วๆ นี้สรุปว่า ผู้ชายและผู้หญิง ยึดถือแนวโน้มของความยุติธรรม และความเอื้ออาทร ผสมผสานกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์เฉพาะทางด้านจริยธรรม

ประเด็นที่ 3 เมื่อลอเร็นซ์ โคลเบอร์กสร้างทฤษฎีของเขาอยู่นั้น เขาไม่ทราบความก้าวหน้าในการศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของสมองที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living brain) นักวิจัยพบว่า เปลือกสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ในสมองของวัยรุ่น ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่มีความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล และการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดทางด้านจริยธรรม

ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่มีเปลือกสมองส่วนหน้าถูกทำลายตั้งแต่ยังเป็นทารก จะไม่สามารถเรียนรู้กฎเกณฑ์ปรกติทางสังคมและจริยธรรมในวัยเด็ก และวัยรุ่น และเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่สามารถสำนึกผิด (Remorse) ในพฤติกรรมชั่วร้ายของตนเอง และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางสังคม

ประเด็นสุดท้าย การใช้เหตุผลทางจริยธรรม และพัฒนาการการรับรู้ (Cognitive) ยังได้รับอิทธิพลจากประเภทของกฎเกณฑ์ (Rules) ที่พ่อแม่ใช้กับลูกวัยรุ่น อีกด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Carol Gilligan - http://en.wikipedia.org/wiki/Carol_Gilligan [2015, February 14].