จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 66 : การใช้เหตุผลทางจริยธรรม (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

สมมุติว่า คุณเป็นวัยรุ่นที่มีเพื่อนหญิงคนหนึ่งกำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง แล้วคุณก็ได้ข่าวว่า มีนักเคมีผู้หนึ่ง ซึ่งเพิ่งจะค้นพบสูตรของยาตำรับใหม่ที่จะสามารถช่วยชีวิตเธอได้ นักเคมีผู้นี้เสนอขายยาตัวนี้ให้คุณในราคา $5,000 (ประมาณ 150,000 บาท) ซึ่งสูงกว่าต้นทุนผลิตหลายๆ เท่าตัว คุณพยายามหยิบยืมเงิน แต่โชคไม่ดี คุณสามารถรวบรวมได้เพียง $2,500 (ประมาณ 75,000 บาท)

คุณขอต่อรองราคาลงมาครึ่งหนึ่ง แต่นักเคมีผู้นี้ ปฏิเสธที่จะขายในราคาที่คุณต่อรอง ค่ำคืนนั้น คุณตัดสินใจ บุกรุกเข้าไปในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ของนักเคมีผู้นี้ แล้วขโมยยาดังกล่าว คุณสมควรทำเช่นนั้นไหม? คุณคิดว่า การตัดสินใจขโมยยา เพื่อนำมาช่วยชีวิต เพื่อนหญิงของคุณ เป็นสิ่งที่ถูกต้องไหม? ถ้าคุณคิดว่า ถูกต้อง คุณจะอธิบายเรื่องจริยธรรม (Moral) ของคุณได้อย่างไร?

โจทย์นี้ได้รับคำตอบจากการตัดสินใจด้านจริยธรรม โดย ลอเร็นซ์ โคลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg) ผู้อธิบายว่า ในขั้นตอนแรก คนทั่วไปอาจพูดว่า คุณไม่ควรขโมยยาดังกล่าว เพราะอาจถูกจับได้ แล้วต้องติดคุก แต่ในขั้นตอนที่ 2 คนทั่วไปอาจพูดว่า คุณสามารถขโมยยานั้นได้ เพื่อช่วยเพื่อนหญิงของคุณ แต่คุณต้องชดใช้ด้วยการยอมสละอิสรภาพ กล่าวคือไปติดคุก เด็กส่วนใหญ่จะอยู่ ณ ระดับนี้

บุคคลที่อยู่ ณ ขั้นตอนที่ 3 อาจพูดว่า คุณควรขโมยยาดังกล่าว เพราะนั่นคือสิ่งที่ครอบครัวคุณคาดหวังให้ทำ แต่บุคคลที่อยู่ในขั้นตอนที่ 4 อาจพูดว่า คุณไม่ควรขโมยยา เนื่องจากคำถามที่ว่า “อะไรจะเกิดขึ้นต่อสังคม ถ้าทุกคนไปแย่งชิงสิ่งที่จำเป็น?” วัยรุ่นและผู้ใหญ่จำนวนมากอยู่ในขั้นตอนนี้

บุคคลในขั้นตอนที่ 5 อาจพูดว่า คุณขโมยยา เพราะชีวิตคนมีคุณค่ามากกว่าเงิน (ในขั้นตอนที่ 6 ซึ่งปรากฏอยู่ในทฤษฎีของลอเร็นซ์ โคล เบอร์ก ฉบับดั้งเดิม แต่ถูกตัดออกในฉบับปัจจุบัน เพราะมีผู้บรรลุขั้นตอนดังกล่าว ไม่กี่คน) ผู้ใหญ่บางคน (ไม่ใช่ทั้งหมด) บรรลุระดับหลังประเพณีปฏิบัติ ดังกล่าว

ทฤษฎีโคลเบอร์ก (Kohlberg theory) ได้ “บุกเบิก” (Pioneer) จนกลายเป็นสาขาใหม่ของวิชาจิตวิทยา เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ที่โดดเด่นอยู่ 2 ประการ โดยในประการแรก เขาได้แบ่งแยกการใช้เหตุผลทางจริยธรรม (Moral reasoning) เป็น 3 ระดับ กล่าวคือ ก่อนประเพณีปฏิบัติ (Pre-conventional) ประเพณีปฏิบัติ (Conventional) และหลังประเพณีปฏิบัติ (Post-conventional)

ในประการที่ 2 เขาเสนอแนะว่า ทุกๆ คน ก้าวผ่านระดับต่างๆ อย่างเป็นลำดับ จากต่ำสุดไปยังสูงสุด โดยที่คุณเริ่มต้นที่ขั้นตอนแรก แล้วไม่สามารถบรรลุขั้นตอนที่ 5 โดยไม่ผ่านขั้นตอนที่ 2, 3, และ 4 อย่างไรก็ตาม ไมใช่ทุกๆ คนจะบรรลุในทุกระดับของพัฒนาการจริยธรรม (Moral development)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Lawrence Kohlberg - http://en.wikipedia.org/wiki/Lawrence_Kohlberg [2015, February 10].