จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 64 : พัฒนาการการบุคลิกภาพ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เมื่อพัฒนาการทางร่างกายของวัยรุ่น ถึงจุดที่มีความพร้อมทางเพศ (Sexually mature) วัยรุ่นมักจะสงสัยว่า ร่างกายของเขา มีเสน่ห์เพียงใด? เมื่อมีการนัดเที่ยว-กิน (Dating) กับเพศตรงข้าม วัยรุ่นก็มักสงสัยว่า เขามีทักษะทางสังคมแค่ไหน?

พัฒนาการของการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย อาทิ เสน่ห์ดึงดูด (Attractiveness) ทางร่างกาย การยอมรับ (Acceptance) โดยเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) การสนับสนุนจากพ่อแม่ และผลการเรียน (Performance) และสังคม แต่หนุ่มวัยรุ่น และสาววัยรุ่น มีปฏิกิริยาตอบโต้กับนานาพลัง (Forces) ที่แตกต่างกัน

ในหมู่สาววัยรุ่น การประเมินคุณค่าในตนเอง มักขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่การค้นพบที่น่าตกใจก็คือ สาววัยรุ่นมีแน้วโน้มที่จะแสดงออกซึ่งการประเมินคุณค่าในตนเองที่ค่อนข้างต่ำหรือลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่หนุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะแสดงการประเมินคุณค่าในตนเองในระดับที่สูงขึ้น หรือสูงกว่า

แม้หนุ่มวัยรุ่น มักอาศัยการดูสง่างาม (Cool look) ในสายตาสาธารณชน โดยไม่แสดงอาการเครียดหรือกังวล ซึ่งทำให้เขาดูยอดแย่ แต่การค้นพบที่น่าดีใจก็คือ ทั้งหนุ่มและสาววัยรุ่น ที่แสดงการประเมินคุณค่าในตนเองในระดับต่ำในช่วงระยะเวลาที่เป็นวัยรุ่น ต่างก็สามารถฟื้นฟูให้อยู่ในระดับสูงขึ้น เมื่อพ้นวัยรุ่น และกำลังก้าวสู่วัยผู้ใหญ่

การประเมินคุณค่าในตนเองมีความสำคัญเพราะการพัฒนาในระดับสูง มีส่วนสัมพันธ์กับผลลัพธ์ในเชิงบวก อาทิ เป็นคนร่าเริง และมีความสุข นอกเหนือจากส่งเสริมให้มีการปรับตัวส่วนบุคคลที่ดี ในขณะที่การพัฒนาในระดับต่ำ มีส่วนสัมพันธ์กับผลลัพธ์ในเชิงลบ อาทิ การซึมเศร้า (Depression) ความทุกข์ใจ (Anxiety) และการปรับตัวส่วนบุคคลที่ไม่ดี

ในบรรดาวัยรุ่น ความกังวล (Concern) ในเรื่องระดับการประเมินคุณค่าในตนเอง เป็นสิ่งสำคัญเพราะเมื่อบุคลิกภาพ (Personality) ได้รับการพัฒนาจนเป็นอุปนิสีย (Trait) จะยากต่อการเปลี่ยนแปลง และมักจะดำรงอยู่ตลอดชั่วชีวิต

เอริค เอริคสัน (Erik Erikson) ได้อธิบายขั้นตอนทางจิตสังคม (Psyco-social stages) ที่ว่าด้วยทฤษฎีในเรื่องการประเมินคุณค่าในตนเอง และอัตลักษณ์ส่วนบุคคล ได้รับการพัฒนาอย่างไร? โดยในขั้นตอนที่ 5 [จากจำนวนทั้งหมด 8 ขั้นตอน ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงวัยชรา] ภายใต้หัวข้อ “อัตลักษณ์ กับ ความสับสนของบทบาท” สำหรับเด็กอายุ 12 ปี ถึง 20 ปี

เขากล่าวว่า วัยรุ่นจำเป็นต้องละทิ้งพฤติกรรมของวัยเด็กที่มีอิสรภาพ ไม่ต้องรับผิดชอบ และหุนหุนพลันแล่น (Impulsive) พัฒนาไปสู่พฤติกรรมวัยผู้ใหญ่ที่มีการวางแผน มีจุดมุ่งหมาย และมีความรับผิดชอบ หากวัยรุ่นสามารถแก้ปัญหาโอกาสความขัดแย้ง (Potential conflict) ก็จะสามารถพัฒนาความรู้สึกมั่นใจที่ดี (Healthy) ในเรื่องอัตลักษณ์

แต่ถ้าวัยรุ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว เขาก็จะรู้สึกสับสนในบทบาทของตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้มีการประเมินคุณค่าในตนเองที่ต่ำลง และกลายเป็นสภาวะไร้เสถียรภาพ (Unstable) หรือถอนตัวออกจากสังคม (Socially withdrawn)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Erik Erikson - http://en.wikipedia.org/wiki/Erik_Erikson [2015, February 3].