จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 63 : พัฒนาการบุคลิกภาพ (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เรื่องราวของแบรนน์ดี้ (Branndi) เด็กสาวชาวอเมริกัน อายุ 12 ปี สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ (Personality) และทางสังคมในหมู่วัยรุ่น เธอมีความเชื่อมั่น (Belief) และจุดมุ่งหมาย เช่นเดียวกับวัยรุ่นอื่นๆ ตัวอย่างเช่น เธอมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นสตรีผิวดำ มีความหวังสูงสำหรับอนาคต และต้องการเป็นแบบอย่าง (Role model) สำหรับผู้อื่น

การพัฒนา “บุคลิกภาพ” หมายถึง (1) วิธีการที่บุคคลพัฒนาความรู้สึกนึกคิด (Sense) หรืออัตลักษณ์ (Identity) ของตนเอง (2) การพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น และ (3) การพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์ในการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ทางสังคม ตัวอย่างเช่น วัยรุ่นอาจแสดงออกซึ่งอิสรภาพและสิ่งที่เชื่อมั่น ว่าเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง โดยการไว้ผมทรงพั๊งค์ (Punk) ที่ตั้งชี้โด่เด่ และการเจาะ (Piercing) [หู จมูก ริมฝีปาก สะดือ เป็นต้น] เพื่อใส่สิ่งประดับที่เห็นอย่างเด่นชัด

ส่วน “อัตลักษณ์ส่วนบุคคล” (Self-identity) หมายถึงวิธีการที่คนเราอธิบายเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งได้แก่ ค่านิยม (Value) จุดประสงค์ อุปนิสัย (Trait) การมองเห็น (Perception) ความสนใจ และแรงจูงใจ อัตลักษณ์ดังกล่าว เกิดขึ้น ขยายตัว และเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งใหม่ๆ ที่วัยรุ่นแสวงหาในเรื่องค่านิยม จุดประสงค์ ความเชื่อมั่น และความสนใจ

อิทธิพลสำคัญต่อชนิดของอัตลักษณ์ที่วัยรุ่นได้พัฒนาขึ้น อยู่ที่วัยรุ่นรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับตนเอง เรียกว่า “การประเมินคุณค่าในตนเอง” (Self-esteem) ซึ่งหมายถึง ความชอบตนเองมากหรือน้อย ในความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (Self-worth) มีเสน่ห์ดึงดูด (Attractiveness) และมีความสามารถ (Competence) ทางสังคม ตามที่ปรากฏแก่สายตาเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer)

นักวิจัยได้วัดการเปลี่ยนแปลงใน “การประเมินคุณค่าของตนเอง” ในการศึกษาข้ามช่วงเวลา (Longitudinal) ที่เริ่มต้นในวัยรุ่นแล้วต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ กล่าวคือเมื่ออายุ 14, 18 และ 23 ปี แล้วพบว่า

  • วัยรุ่นจำนวนมาก (60%) พัฒนาและธำรงรักษาไว้ซึ่งความรู้สึกเกี่ยวกับการประเมินคุณค่าในตนเองที่ค่อนข้างสูง จนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (Junior high school) โดยเรียนหนังสือได้ดี พัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และรู้สึกร่าเริง กล้าแสดงออก อารมณ์อบอุ่น และไม่ยอมแพ้ง่าย แม้จะกลัดกลุ้ม (Frustrated)
  • วัยรุ่นจำนวนน้อย (15%) พัฒนาและธำรงรักษาไว้ซึ่งความรู้สึกเกี่ยวกับการประเมินคุณค่าในตนเองที่ค่อนข้างต่ำอย่างเรื้อรัง (Chronic) จนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีปัญหาส่วนบุคคลและทางสังคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ขี้อาย อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว (Lonely)และซึมเศร้า (Depressed)
  • วัยรุ่นจำนวนปานกลาง (ประมาณ 25%) แสดงการเปลี่ยนแปลงในทางกลับกัน (Reversal) ของการประเมินคุณค่าในตนเอง ทั้งจากสูงไปต่ำ หรือจากต่ำไปสูง ตัวอย่างเช่น หนุ่มวัยรุ่นเปลี่ยนจากความเคร่งครัด (Stern) อารมณ์ไม่หวั่นไหว และขาดทักษะทางสังคม ไปเป็น เปิดเผยและกล้าแสดงออก อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มรุ่นราวคราวเดียวกัน เสน่ห์ดึงดูด หรือความสัมพันธ์กับพ่อแม่

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Self-esteem - http://en.wikipedia.org/wiki/Self-esteem [2015, February 1].