จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 61 : อัตลักษณ์ของวัยรุ่น (4)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เราอาจกล่าวว่า เป็นการยากสำหรับวัยรุ่นที่จะสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง โดยไม่มีโอกาสเห็นตัวอย่างที่น่ายกย่องจากอัตลักษณ์ของพ่อแม่ แล้วเลือกคุณสมบัติ (Quality) ที่พึงประสงค์บางประการมาประยุกต์ใช้ ในการประชุมภายในครอบครัว วัยรุ่นจะได้รับประสบการณ์ของความรู้สึกใกล้ชิดกันและให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยรู้สึกมีอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

นักวิจัยค้นพบวิถีพ่อแม่ (Parental style) ที่ให้ความอบอุ่นและความเป็นประชาธิปไตยแก่ลูก เช่นเดียวกับวิถีพ่อแม่ที่หล่อหลอม (Foster) ความสำเร็จทางการศึกษา และช่วยให้วัยรุ่นมีความรู้สึกที่ดีของการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ซึ่งสัมพันธ์กับผลลัพธ์ของอัตลักษณ์ที่แข็งแกร่ง (Healthy) ในวัยรุ่น

หลังจากสำรวจหลากหลายอย่างถี่ถ้วนแล้ว พบว่าความคิดที่ว่า วัยรุ่นควรสามารถเลือกอัตลักษณ์ส่วนตัว เป็นความคิดที่แปลกประหลาดในสังคมประเทศที่ด้อยพัฒนา ซึ่งยอมรับบทบาทของผู้ใหญ่ที่วัยรุ่นได้รับการคาดหวัง โดยไม่ต้องมีความพยายามค้นหาตัวตนหรือทดลอง (Experimentation) มาก่อน

ตัวอย่างเช่น ลูกชาวนาและชาวประมง ได้รับการคาดหวังให้เจริญรอยตามพ่อแม่ ให้ยึดอาชีพชาวนาและชาวประมง [ลูกครูและลูกหมอ ก็ไม่แตกต่างกัน อาจได้รับการคาดหวังให้ยึดอาชีพครู และหมอ ตามพ่อแม่เหมือนกัน หรืออย่างน้อย ก็แต่งงานกับผู้มีอาชีพดังกล่าว]

สำหรับวัยรุ่นทั่วโลก ความคิดของ เจมส์ มาร์เชีย (James Marcia) ที่พูดถึง “การรอคอย” อัตลักษณ์ อาจเป็นเส้นทาง (Route) ของวัยรุ่นที่ต้องมีการปรับตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ (Adulthood) ซึ่งมักเปิดประเด็นใหม่ ในเรื่อง “เขาเป็นใคร?” หลังจากที่เขามีประสบการณ์มากพอที่จะท้าทายมุมมองเดิม แล้วนำเสนอทางเลือกใหม่ อาทิ ชีวิตหลังการหย่าร้างของแม่ อาจมีคำถามใหม่สำหรับอัตลักษณ์ของตนเองในฐานะผู้หญิง

นอกจากนี้ จุดประสงค์เฉพาะของชีวิตที่วัยรุ่นเหล่านี้ ได้วางแผนไว้ อาจถูกจำกัดด้วยทางเลือกที่มีอยู่ และค่านิยม (Value) ในสังคมในแต่ละจุดของเวลา แต่โดยสรุปแล้ว ในสังคมประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะคาดหวังให้วัยรุ่นตั้งคำถาม (และค้นหาคำตอบ) อย่างจริงจังเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเอง เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาสำคัญในการนิยามว่า “เขาเป็นใคร?”

เอริค เอริคสัน (Erik Erikson) กล่าวว่า แต่ละบุคคลที่ “บรรลุ” อัตลักษณ์ (Identity achievement) จะมีแนวโน้มความเป็นอยู่ [ทางจิตใจ] ที่ดีกว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมประเทศที่พัฒนาแล้วหรือด้อยพัฒนา เขายอมรับว่า ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ อาจเกิดขึ้นอีกในช่วงเวลาต่อมาของชีวิต แม้ในบรรดาผู้ที่ได้หล่อหลอม (Forge) อัตลักษณ์ในเชิงบวกมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากวัยรุ่น มีจิตใจของ “อัตลักษณ์ในเชิงลบ” (Negative identify) ตามที่ เอริค เอริคสัน ได้นิยามไว้ เขาจะกลายเป็นผู้แพ้ (Loser) ที่มีแนวโน้มในการทำผิดกฎหมาย (Delinquent) ในอนาคต

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Self-identity - http://www.ehow.com/facts_7655050_self-identity.html [2015, January 24].