จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2 จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 51 : วัยรุ่นมองตนเอง (3)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เราอาจเรียกวัฒนธรรมของสังคมตะวันออก อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน [รวมทั้งไทยด้วย] ว่าเป็น “สังคมส่วนรวม” (Collective หรือ Communal) ที่ให้คุณค่าแก่ความร่วมมือ (Cooperation) และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) มากกว่าการแข่งขัน (Competition) และการพึ่งพาตนเอง (Independence)

อัตลักษณ์ (Identity) ของสังคมตะวันออกนั้น สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่เขาผูกพัน (Belong) ด้วย อาทิ ครอบครัว องค์กรศาสนา และชุมชน แทนที่จะเป็นความสำเร็จ (Accomplishment) และลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ส่วนบุคคล อันที่จริง วัยรุ่นในวัฒนธรรมตะวันออกให้คุณค่าแก่ประสิทธิผลตนเอง (Self-effacement) และมองวัยรุ่นที่หมกมุ่น (Pre-occupied) อยู่กับความกังวลส่วนบุคคลว่า เป็นคนผิดปรกติ (Abnormal) หรือปรับตัวไม่ได้ (Mal-adjusted)

ความแตกต่างของต่างวัฒนธรรรม (Cross culture) ในเรื่องการมองตนเอง (Self-concept) แสดงให้เห็นเด่นชัดจากการตอบแบบสอบถาม (Questionnaire) ของวัยรุ่นอเมริกันกับวัยรุ่นญี่ปุ่น ที่ว่า “ฉันเป็นใคร?” (Who Am I?)

ในชั้นแรก แบบสอบถามได้ขอให้ผู้กรอกประเมินตนเองในคุณลักษณะของส่วนบุคคล/ปัจเจกชน (Personal/ individualistic) (ตัวอย่างเช่น ฉันเป็นคนซื่อสัตย์ และฉันเป็นคนฉลาด) และของส่วนรวม/สายสัมพันธ์ (Social/relational) (ตัวอย่างเช่น ฉันเป็นนักเรียนเก่งของโรงเรียน และฉันเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่) จากนั้นผู้กรอกแบบสอบถาม จะเรียงลำดับ 5 ข้อของคำอธิบายตนเอง (Self-descriptive) ที่สอดคล้องกับการมองตนเองมากที่สุด

ผลการศึกษาวิจัย แสดงว่านักเรียนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (59%) อธิบายตนเองว่า มีคุณลักษณะ (Attribute) ส่วนบุคคล/ปัจเจกชน ในขณะที่คุณลักษณะดังกล่าว เป็นส่วนประกอบเพียง 19% ของการอธิบายตนเองในบรรดานักเรียนชาวญี่ปุ่น ในทางกลับกัน นักเรียนชาวญี่ปุ่นให้คุณค่าคุณลักษณะส่วนรวม/สายสัมพันธ์ ว่าเป็นประกอบสำคัญของการมองตนเอง

ในมิติของแนวโน้มพัฒนาการ วัยรุ่นชาวญี่ปุ่นเมื่อมีอายุมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะไม่แยกแยะความแตกต่างของผู้คนบนพื้นฐานขอคุณลักษณะปัจเจกชน ในขณะที่วัยรุ่นชาวอเมริกันเมื่อมีอายุมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะแยกแยะความแตกต่างดังกล่าว

ผลวิจัยยังเปิดเผยว่า วัยรุ่นอเมริกันที่มีเชื้อสายชาวเอเชีย (Asian American) ซึ่งมีครอบครัวที่ยังคงดำรงรักษาคุณค่าของส่วนรวม (Collective) หรือสังคม หลังจากอพยพมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญต่ออัตลักษณ์ทางสังคม และสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับผู้อื่น มากกว่าวัยรุ่นอเมริกันที่มีเชื้อสายชาวยุโรป (European American)

สรุปแล้ว คุณค่าและศรัทธาตามประเพณีดั้งเดิม (Traditional) ในวัฒนธรรมหนึ่ง มีผลกระทบอย่างมากในเรื่องการมองตนเอง และความแตกต่างระหว่างของวัฒนธรรมส่วนบุคคล (Individualistic) กับส่วนรวม (Collective) และระบบค่านิยม (Value system) ก็มีอิทธิพลต่อหลากหลายมิติของตนเอง (Self) ที่แต่ละบุคคลมีมุมมอง และประเมินพฤติกรรมของความสำเร็จ [หรือล้มเหลว] ความก้าวร้าว (Aggression) การเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นเป็นที่ตั้ง (Altruism) และพัฒนาการจริยธรรม เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Self-perception theory - http://en.wikipedia.org/wiki/Self-perception [2014, December 20].