จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 48 : พัฒนาการเกี่ยวกับตนเอง

จิตวิทยาวัยรุ่น

ต่อคำถามที่ว่า “ฉันคือใคร?” วัยรุ่นอเมริกันคนหนึ่งตอบว่า “ฉันเป็นบุคคลที่พูดตามสิ่งที่ฉันคิด . . . มิใช่ผู้ที่จะพูดอย่าง ทำอีกอย่าง ฉันโชคดีมากที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพยาเสพติด ฉันมีความรู้สึกดีๆ เกี่ยวกับชีวิตของฉันที่ฉันรัก ฉันมีความสนใจหลากหลาย . . . ฉันชอบลองสิ่งแปลกๆ ฉันชอบทัศนศึกษา . . . อาจเป็นการยากที่จะเดินทางท่องเที่ยวในขณะที่ยังเป็นนักเรียน ผู้คนมองฉันว่า ฉันเป็นคนที่แตกต่าง [จากวัยรุ่นทั่วไป] . . . [ฉัน] เป็นสิ่งที่ลึกลับ (Mysterious) มาก”

คนส่วนใหญ่จะตอบคำถามว่า “ฉันคือใคร?” ด้วย (1) ลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ของแต่ละบุคคลที่สังเกตได้ อาทิ ความซื่อสัตย์ (Honesty) และความเป็นมิตร (Friendilness) (2) บทบาทในชีวิต อาทิ นักศึกษา และอาสาสมัครเพื่อสังคม (3) ศาสนา [ปรัชญาชีวิต] หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับจริยธรรม หรือ (4) ความฝักใฝ่ในการเมือง (Political leaning) [ระหว่างความคิดก้าวหน้า (Progressive) กับอนุรักษ์นิยม (Conservative)]

ในการตอบคำถามดังกล่าว ผู้ตอบกำลังอธิบายแนวความคิดทางอ้อม (Elusive concept) ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “อัตตา” หรือ “ตนอง” (Self) ซึ่งมักนำไปสู่คำถามถัดไปว่า แล้วพัฒนาการความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง (Sense of self) เป็นสิ่งที่ได้มาตั้งแต่กำเนิด หรือได้รับการพัฒนาเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ตามประสบการณ์ที่ “ผ่านโลก” มากขึ้น?

แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน นักจิตวิทยาส่วนมากเชื่อถือว่า การเกิดความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง เริ่มขึ้นเมื่อทารกมีอายุเพียง 2 - 3 เดือน ตามทฤษฎีพัฒนาการการรับรู้ (Cognitive development) ของ ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget) แต่ในปัจจุบัน ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ทารกแรกเกิด (Newborn) จะสามารถแยกแยะ “การรับรู้ตนเอง” (Self-recognition) ออกจากสภาพแวดล้อมได้หรือไม่?

การขยายตัว (Growth) ของการรับรู้ตนเองและการเริ่มรับรู้ว่าตนเองมีส่วนร่วมในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction) ได้แผ้วทางไปสู่ “สมรรถนะ” (Competency) ใหม่ๆ ทางสังคมและทางอารมณ์ อาทิ ความรู้สึกละอายใจ (Embarrasement) ขึ้นอยู่กับการรับรู้ตนเอง

เมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้น พัฒนาการการรับรู้ทางสังคม (Social recognition) ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะวิวัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self-concept) จนกลายมาเป็นการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ในวัยรุ่น อันเป็นวัยที่จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ตนเองในอนาคต (Future-oriented self-portrait) หรือ “อัตลักษณ์” (Identity) เพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบของการป็นผู้ใหญ่ในที่สุด

ในวิวัฒนาการดังกล่าว การเรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่น และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship) ในบรรดาวัยรุ่น เป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้ทางสังคม ซึ่งจะพัฒนาเป็นคู่ขนาน (Parallel) ไปกับแนวความคิดเกี่ยวกับตนเอง ทั้ง 2 ปัจจัยเกี่ยวพันกัน (Intertwine) ในวิถีทางที่ค่อนข้างซับซ้อน (Complex)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Self-concept - http://en.wikipedia.org/wiki/Self-concept [2014, December 9].