จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 47 : พัฒนาการการรับรู้ในวัยรุ่น (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของ แบรนน์ดี (Branndi) สาววัยรุ่นอเมริกัน ซึ่งน่าจะประยุกต์ใช้ได้กับหลายๆ สถาณการณ์ในเมืองไทยได้

“หนูคิดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นประธานาธิบดี [ของสหรัฐอเมริกา] หนูคิดเองได้ โดยไม่ต้องให้คนอื่นมาคิดว่า ‘ยัยนี่เป็นแค่เด็ก และไม่รู้ว่า อะไรรออยู่เบื้องหน้า’ หนูรู้ว่า การเป็นประธานาธิบดี มิใช่ได้มาง่ายๆ ยิ่งหนูเป็นเด็กผิวดำ และเป็นสาวแล้ว หนูต้องการเป็นทนายความ และทำงานไต่เต้าขึ้นไปในวิถีการเมือง ตั้งแต่เป็นนายกเทศมนตรี วุฒิสมาชิก และผู้ว่าการรัฐ . . .

“หนูรู้ว่า ผู้คนจะต้องมองย้อนไปในอดีตของหนู แล้วพูดว่า ‘เมื่อหลายปีก่อน ยัยนี่ทำโน่น ยัยนี่ทำนี่ และต่างๆ นานา สิ่งเลวร้ายที่สุดที่หนูเคยทำก็คือขโมยหมากฝรั่งราคา 5 เซ็นต์ 2 ก้อน จากร้าน 7-Eleven เมื่ออายุได้ 9 ขวบ หนูไม่คิดว่า เขาจะเอาผิดกับหนูเรื่อง [จิ๊บจ๊อย] แค่นี้ . . .

“บางครั้งผู้คน เพียงคาดหวังให้หนูก่อความวุ่นวาย เพราะหนูเป็นเด็กผิวดำ กรุณาอย่าตราหน้าหนูแบบนั้น ให้คิดว่า หนูเป็นปัจเจกชน . . . หนูต้องการให้ทุกคนรับรู้ว่า วัยรุ่นอายุ 12 ปี ก็เอาจริงเอาจังกับอนาคตได้ หนูต้องการเป็น ‘แบบอย่างของบทบาท’ (Role model) หนูดีใจที่เกิดเป็นชนผิวดำ หนูต้องการบอกคนอื่นว่า ‘ยืนหยัดต่อไป เพราะเธอสามารถทำได้ดีเท่าๆ กับคนอื่น’”

นอกจากพูดจาเหมือนนักปรัญชา แบรนน์ดี เป็นวัยรุ่นที่รักสนุก ชอบดนตรีเต้นจังหวะเร็ว (Rap music) เที่ยวเตร่ตามห้างสรรพสินค้ากับเพื่อนฝูงของเธอ และชมภาพยนตร์ ผลการเรียนสูงกว่าถัวเฉลี่ย ชอบเขียนเทพนิยายสำหรับเด็ก และร้องเพลงประสานเสียง (Choir) ณ โบสถ์ของชุมชนที่เธออยู่ ณ อายุ 12 ปี เธอเพิ่งจะเริ่มชีวิตวัยรุ่น

เหมือนวัยรุ่นทั่วไป เธอกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการคิดและการใช้เหตุผล อาทิ ในเรื่องภาวะของโลก เธอกล่าวว่า “หนูไม่เชื่อในเรื่อสาบานตนภักดีต่อชาติ (Pledge of Allegiance) [เหมือนการร้องเพลงชาติไทยทุกเช้าก่อนเข้าชั้นเรียน] หนูไม่ยอมสาบาน เพราะเป็นเรื่องโกหกของ ‘อิสรภาพและยุติธรรมสำหรับทุกคน’ [เนื้อหาท่อนหนึ่งของการสาบานตน] . . .

. . . ก้าวแรกของหนูในการเมืองคือต้องการเป็นนายกเทศมนตรี หนูเคยเขียนจดหมาย ถึงทอม แบรดลีย์ (Tom Bradley) นายกเทศมนตรีคนก่อนของนครลอส แอนเจลีส หลายฉบับ เกี่ยวกัยสิทธิของสัตว์ (Animal rights) เขาตอบกลับมาด้วยคำตอบแบบฉบับ หนูไม่คิดว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หนูเป็นคนกล้าพูด (Outspoken) หนูกังวลเรื่องของเพศ การข่มขืนชำเรา และเรื่องราว ทำนองนั้น . . . หนูเชื่อในพระเจ้า หนูเชื่อว่าพระเจ้ายอมให้เกิดความชั่วร้าย เพื่อสอนบทเรียนให้พวกเรา . . .”

การพูดจาของวัยรุ่นอายุ 12 ปีอย่างแบรนน์ดี เต็มไปด้วยความคิดนามธรรม และความคิดเห็นหลากหลายประเด็น ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งในช่วงวัยรุ่น นั่นคือความสามารถในการคิดประเด็นนามธรรม อาทิ ความหมายของอิสรภาพ ยุติธรรม และพระเจ้า ซึ่งแสดงว่า เธอกำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 ของทฤษฎีพัฒนาการการรับรู้ของเปียร์เจต์ที่เรียกว่า “ปฏิบัติการที่สมบูรณ์” (Formal operations)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Theory of cognitive development - http://en.wikipedia.org/wiki/Theory_of_cognitive_development, [2014, December 6].