จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 45 : ผลทางสังคมจากวัยเจริญพันธุ์ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

การคิดถึงเรื่องอุปนิสัย (Trait) ของผู้ชายและผู้หญิงที่แสดงออก รวมทั้งอาชีพและงานอดิเรกที่เขาทำนั้น มิได้มีข้อกำหนดตายตัวในช่วงต้นของวัยรุ่นที่กำลังเปลี่ยนผ่าน (Transition) จากเด็กประถมศึกษาไปยังเด็กมัธยมศึกษา แต่หลังจากนั้นบทบาทของชาย-หญิง (Gender) เริ่มมีความยืดหยุ่นน้อยลง

เด็กชายและหญิงแสดงการไม่ยอมรับ (Intolerance) อากัปกิริยา (Mannerism) ที่ไม่สอดคล้องกับเพศ กล่าวคือ ความรู้สึกของวัยรุ่นแรกเริ่ม คาดหวังให้พฤติกรรมเป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น (Stereotype) ซึ่งสัมพันธ์กับกระบวนการที่เรียกว่า “ความเข้มข้นของการระบุเพศ” (Gender intensification)

กระบวนการนี้คือการขยาย (Magnification) ความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความกดดันที่เพิ่มขึ้น จากการต้องปฏิบัติตามบทบาทของชาย-หญิงในวัยรุ่น ที่สืบเนื่องมาจากประเพณีนิยม หนุ่มวัยรุ่นเริ่มเห็นตนเองมีความเป็นบุรุษ (Masculine) ในขณะที่สาววัยรุ่น ก็เริ่มเน้นด้านความเป็นสตรี (Feminine)

แล้วทำไม “ความเข้มข้นของการระบุเพศ” จึงเกิดขึ้น? สาเหตุหนึ่งมาจากอิทธิพลของพ่อแม่ เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พ่อก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมร่วมกับลูกชาย ส่วนแม่ก็เข้ามาเกี่ยวข้องในกิจกรรมร่วมกับลูกสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีทั้งลูกสาวและลูกชาย พ่อแม่ต่างรับผิดชอบให้ลูกชายและลูกสาวมีโอกาสเข้าสังคมกับเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) อาจมีความสำคัญมากกว่าอิทธิพลของพ่อแม่ วัยรุ่นเริ่มจะเพิ่มการเรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องการปฏิบัติตามประเพณีนิยมของครรลองชาย-หญิงที่ควรจะเป็น เพื่อให้สามารถนัดไปเที่ยว-กินกับเพศตรงข้าม (Dating)

สาววัยรุ่นที่ทำตัวเหมือนชาย (Tomboy) โดยไม่สนใจในการแสดงออก อาจต้องสวมใส่ชุดกระโปรงและประพฤติตน เพื่อให้ดูเป็น “กุลสตรี” หากต้องการดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม ส่วนหนุ่มวัยรุ่น อาจพบว่า เขาจะได้รับความนิยม หากแสดงภาพลักษณ์ (Image) ของ “ชายชาตรี”

ความกดดันทางสังคม (Social pressure) ต่อวัยรุ่น ให้ปฏิบัติตามบทบาทตามประเพณีนิยม ช่วยอธิบายว่า ทำไมความแตกต่างของชาย-หญิง ในความสามารถของการรับรู้ บางครั้งเป็นสิ่งที่สังเกตได้ชัดเจน (Noticeable) เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ในระดับชั้นมัธยมปลาย วัยรุ่นเริ่มมีความรู้สึกดีๆ กับอัตลักษณ์ (Identity) ของชายหนุ่มและหญิงสาว พร้อมทั้งมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อคิดถึงความเป็นชาย-หญิง อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นบางคนอาจไม่ยอมรับจนถึงวัยผู้ใหญ่ในบทบาทของเพศชาย-หญิงที่ไม่คำนึงข้อกำหนดโดยประเพณีนิยม

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. The Fundamental Changes of Adolescence - http://highered.mcgraw-hill.com/sites/dl/free/0072414561/16698/ch01.pdf [2014, November 29].