จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 44 : ผลทางสังคมจากวัยเจริญพันธุ์ (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

วัยรุ่นที่เริ่มมีความพร้อมทางร่างกายและทางเพศสัมพันธ์ (Sexually mature) ไม่เพียงแต่มีความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังได้รับการมองและปฏิบัติที่แตกต่างไปจากผู้อื่น ในสังคมที่ยังด้อยพัฒนา มี “พิธีกรรมแห่งเส้นทาง” (Rite of passage) ที่ประกาศให้ทั้งชุมชนรับรู้ว่า เด็กในอดีตได้กลายเป็นผู้ใหญ่แล้วในปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่น เผ่าคากูรู (Kaguru) ในภาคตะวันออกของทวีปอัฟริกา เด็กหนุ่มวัยเจริญพันธุ์จะถูกนำเข้าไปในป่า เปลี้องผ้าออก และโกนขนที่โคนอวัยวะเพศออก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการละทิ้งสถานะของความเป็นเด็ก แล้วต้องผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดของการขลิบหนังหุ้มลึงค์ออก (Circumcision) โดยมิได้มียาชา (Anesthesia) ช่วยบรรเทา

จากนั้น เด็กหนุ่มดังกล่าว จะได้เรียนรู้ในเรื่องเพศสัมพันธ์ และฝึกร้องเพลงพิธีกรรมที่จะสอนสั่งให้เขารู้จักหนทางสู่ความเป็นชายหนุ่ม (Manhood) และในที่สุดจะได้รับการ “เจิม” (Anoint) ด้วยดินแดง เพื่อเป็นเครื่องหมายของสถานะใหม่ แล้วถูกนำตัวกลับมายังหมู่บ้านเพื่อสนุกสนานในงานฉลอง [นับเป็นสังคมที่ไม่มีวัยรุ่นคั่นกลางระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่]

เด็กสาววัยเจริญพันธุ์ของเผ่าคากูรู ก็ต้องผ่านพิธีกรรม เมื่อเริ่มมีประจำเดือน (Menstruation) เป็นครั้งแรก บริเวณอวัยวะเพศ (Genital) จะถูกตัดออก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสถานะใหม่ จากนั้นจะได้รับการสอนสั่งการเป็นสาวเต็มตัว (Womanhood) โดยยายหรือย่า ก่อนที่จะรับการต้อนรับคืนสู่สังคมในฐานะผู้ใหญ่ เช่นกัน

แม้ในสังคมที่พัฒนาแล้ว จะไม่มี “พิธีกรรมแห่งเส้นทาง” จากภาวะความเป็นเด็ก สู่ความเป็นผู้ใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงของวัยเจริญพันธุ์ก็มีผลที่ตามมาในด้านสังคม ผลงานวิจัยแสดงว่า เมื่อวัยเจริญพันธุ์ (Puberty) มีการเปลี่ยนแปลงสูงสุด (Peak) วัยรุ่นอายุ13 ปี ในสังคมตะวันตก อาทิ สหรัฐอเมริกาและยุโรป จะเริ่มมีความรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นและใกล้ชิดพ่อแม่น้อยลง แล้วเริ่มมีการโต้เถียงกับพ่อแม่ ความขัดแย้ง (Stand-off) มักลงเอยด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง (Squabble)

ตัวอย่างเช่น การไม่จัดแจงเตียงนอนให้เป็นระเบียบ การอยู่จนดึกดื่น และการเปิดฟังดนตรีด้วยเสียงอึกทึกครึกโครม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่ารื่นรมย์นัก สาเหตุอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในช่วงต้นของวัยรุ่น และการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก (Moodiness) ช่วงระยะเวลาของภาวะซึมเศร้า (Bout of depression) ตลอดจนภาวะไม่สงบนิ่ง (Restlessness)

แม้ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในสังคมกำลังพัฒนา อาทิ เม็กซิโก (และไทยด้วย) วัยรุ่นและพ่อแม่ มักจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเมื่อวัยเจริญพันธุ์มาถึง แสดงว่าความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมในเรื่องครอบครัว หรือความสำคัญของภาวะกำลังกลายเป็นผู้ใหญ่ มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับพ่อแม่ชาวตะวันตก จะไม่ค่อยราบรื่นในช่วงต้นของวัยรุ่น แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ความสัมพันธ์ดังกล่าวมักจะอบอุ่นขึ้น ตลอดช่วงเวลาของวัยรุ่นจนกระทั่งวัยเจริญพันธุ์สิ้นสุดลง ดังนั้น พ่อแม่สามารถช่วยวัยรุ่นให้รู้จักการยอมรับตนเองและผู้อื่น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและสังคมที่วัยรุ่นต้องเผชิญอยู่

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. The Fundamental Changes of Adolescence - http://highered.mcgraw-hill.com/sites/dl/free/0072414561/16698/ch01.pdf [2014, November 25].