จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 43 : ผลทางอารมณ์จากวัยเจริญพันธุ์

จิตวิทยาวัยรุ่น

การเปลี่ยนแปงทางอารมณ์ในชีวิตของวัยรุ่น จะเริ่มเห็นได้ชัดเมื่อพัฒนการของเด็กได้เปลี่ยนผ่าน (Transition) ไปสู่วัยเจริญพันธ์ ความรู้สึกเจ้าอารมณ์ (Moody) เพิ่มขึ้นเมื่อวัยรุ่นเริ่มมีความพร้อมทางเพศ (Sexual maturity) มีข้อมูลที่สนับสนุนความคิดที่ว่า ประสบการณ์ของอารมณ์จะยิ่งทวีขึ้นในเชิงลบจากช่วงต้นของวัยรุ่น แล้วดำเนินต่อไปสู่วัยรุ่นช่วงกลาง

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเฉพาะในวัยรุ่นที่รู้สึกโดดเดี่ยว (Lone) หรือประเมินคุณค่าตนเอง (Self-esteem) ต่ำ หรือแสดงความประพฤติที่บกพร่อง (Conduct disorder) อย่างไรก็ตาม อารมณ์ฉุนเฉียวดังกล่าว จะเริ่มลดลงเมื่อเลยช่วงกลางของวัยรุ่นไปแล้ว และเริ่มกลายเป็นอารมณ์ในเชิงบวกในช่วงปลายของวัยรุ่น ที่กำลังย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (Adulthood) ซึ่งสอดคล้องกับมิติของความเครียดในชีวิต (Life stress perspective)

แม้ว่า วัยุรุ่นส่วนใหญ่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ดังกล่าวได้ดี และสามารถปรับตัวอย่างเหมาะสม แต่ความรู้สึกซึมเศร้า (Depression) อย่างรุนแรง เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว (Bout) โดยเฉพาะในช่วงต้นของวัยรุ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อประมาณ 15% ถึง 20% ของวัยรุ่นในการศึกษาวิจัย โดยที่มีสาววัยรุ่นแสดงอาการซึมเศร้าในระดับที่สูงกว่าหนุ่มวัยรุ่น

ทำไมวัยรุ่นจึงประสบอารมณ์ในเชิงลบกะทันหัน? การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและฮอร์โมน ที่มาพร้อมกับความพร้อมทางเพศ อาจมีส่วนทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวดังกล่าวและความไม่สงบนิ่ง (Restlessness) อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจำนวนมาก เชื่อมั่นว่า การทะเลาะวิวาท (Hassle) ที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวันกับพ่อแม่ (และอาจรรวมไปถึง) ครูอาจารย์ และเพื่อนฝูง เป็นสาเหตุหลักของแนวโน้มของความรู้สึกทางอารมณ์ในเชิงลบ ในช่วงต้นของวัยรุ่น

ความขัดแย้ง (Conflict) ระหว่างพ่อแม่กับวัยรุ่น ในประเด็นความรับผิดชอบส่วนตัว และการปกครองตนเอง (Self-governance) จะทวีขึ้นสูงสุด (Peak) ในช่วงต้นถึงช่วงกลางของวัยรุ่น แล้วค่อยๆ ลดความถี่ลงเมื่อถึงช่วงปลายของวัยรุ่น เมื่อการทะเลาะวิวาทภายในครอบครัวลดลง อารมณ์ฉุนเฉียวดังกล่าวก็ลดลงตามไปด้วย

ในการศึกษาข้ามช่วงเวลา (Longitudinal) เมื่อไม่นานมานี้ ทีมงานนักวิจัยพบว่า ความเครียดในชีวิต เป็นตัวพยากรณ์ (Predictor) อนาคตของวัยรุ่นได้ดี กล่าวคือ วัยรุ่นที่ประสบความเครียดในชีวิตมากกว่า จะมีประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ไม่สูดีนักในเวลาต่อมา ระดับสูงของความเครียด (จากปัจจัยอื่นๆ ด้วย) มักสร้างผลกระทบในเชิงลบต่อวัยรุ่น ผู้อาจมีความรู้สึกซึมเศร้าอย่างรุนแรง

แม้สาววัยรุ่นจะให้ความสำคัญแก่ (และมีแนวโน้มต่อ) การรักษาความสัมพันธ์ที่สมานฉันท์ (Harmony) แต่ก็ล่อแหลม (Susceptible) ต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าหนุ่มวัยรุ่น ด้วยเหตุผล 2 ประการ จากการศึกษาบันทึกประจำวัน (Diary) ของสาววัยรุ่นอายุระหว่าง 13 ถึง 15 ปี พบว่า (1) สาววัยรุ่นประสบความเครียดจากสมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง และคู่รัก มากกว่าหนุ่มวัยรุ่น และ (2) สนองตอบในเชิงลบต่อความเครียดทุกประเภท โดยเฉพาะจากการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนฝูง

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Emotional development during Adolescence - http://social.jrank.org/pages/226/Emotional-Development-Emotional-Development-during-Adolescence.html [2014, November 22].