จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 42 : ความผิดปรกติในการกินอาหาร

จิตวิทยาวัยรุ่น

นิยามของ “ความผิดปรกติในการกิน” (Eating disorder) คือสภาวะของนิสัย (Habit) การกินอาหารเข้าสู่ร่างกาย (Intake) ที่ไม่เพียงพอ (Insufficient) หรือมากเกินไป (Excessive) จนเป็นอันตราย (Detriment) ต่อสุขภาพทางร่างกาย (Physical) และจิตใจ (Mental)

นักวิจัยได้ให้สาววัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปรกติในการกิน กรอกแบบประเมินผลซึ่งรวมทั้งคำถามมาตรฐานในเรื่องรูปลักษณ์ (Appearance) และมิติสำคัญต่อภาพลักษณ์ Image) ของร่างกาย สาววัยรุ่นรู้สึกแปลกใจที่พบอาการมากมายของภาวะจำกัดอาหารจนเกินไป (Anorexic) อาทิ ท้องอืด (Bloating) และปวดศีรษะ

อาการดังกล่าวตอกย้ำความสัมพันธ์ในเชิงลบกับการทำงาน (Function) ของร่างกาย ดังนั้น นักวิจัยจึงเสนอแนะวิธีที่จะผนวกสมรรถนะ (Competence) ของร่างกายและการทำงานที่ดีต่อสุขภาพ ให้เข้ากับนิยามโดยทั่วไปของ “ภาพลักษณ์” หรือแนวความคิด (Concept) ของร่างกาย เพื่อประโยชน์แก่สาววัยรุ่น

งานวิจัยชิ้นอื่น ชี้ให้เห็นถึงมาตรการป้องกันสำหรับวัยรุ่นทุกคน ตัวอย่างเช่น การกินอาหารในครอบครัวสัมพันธ์กับการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ที่สูง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยป้องกันที่ทรงพลัง (Potent) มากที่สุด ในการต่อสู้กับความไม่พึงพอใจต่อภาพลักษณ์ของร่างกาย

ดังนั้นการจัดให้มีการกินอาหารภายในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ จะสร้างบรรยากาศในเชิงบวก ที่จะป้องกันพัฒนาการของพฤติกรรมควบคุมน้ำหนักที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ (Unhealthy) ในบรรดาวัยรุ่น

อันที่จริง สาววัยรุ่น ที่กินอาหารร่วมกับครอบครัว 3 ถึง 4 มื้อต่อสัปดาห์ มีแนวโน้มเพียง 1 ใน 3 ที่จะแสดงพฤติกรรมควบคุมน้ำหนักที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับสาววัยรุ่นที่ไม่ค่อยกินอาหารร่วมกับครอบครัว

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่เสนอแนะการสร้างสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน โดยเน้นย้ำสุขภาพ และความแข็งแรงที่เหมาะสม (Fitness) แทนรูปลักษณ์ของร่างกาย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความพึงพอใจในภาพลักษณ์ของร่างกาย อันเป็นมิติ (Aspect) ที่สำคัญของพัฒนาการอัตลักษณ์ (Identity) ที่ทรงอิทธิพลต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ

การขยายแนวความคิดของภาพลักษณ์ร่างกาย เกินขอบเขตของรูปลักษณ์ในอุดมคติ ได้รับการส่งเสริมในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ให้เป็นวัฒนธรรมยอดนิยม (Popular culture)

นอกจากนี้ การส่งเสริมการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ที่สูงขึ้น จะเป็น “เกราะกำบัง” (Inoculate) ให้วัยรุ่น ต่อสู้กับความไม่พึงพอใจต่อภาพลักษณ์ของร่างกาย และป้องกันพัฒนาการของมาตรการควบคุมน้ำหนักที่ทำลายสุขภาพตนเอง ซึ่งมักจะนำไปสู่การวินิจฉัยพบความผิดปรกติของการกิน (Eating disorder) ที่รุนแรง

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Eating disorder - http://en.wikipedia.org/wiki/Eating_disorder [2014, November 18].