จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 41 : กีฬากับการอดอาหาร

จิตวิทยาวัยรุ่น

ผลการวิจัยแสดงว่า ปัจจัยทางพฤติกรรมที่ปรากฎว่ามีอิทธิพลมากที่สุดต่อการควบคุมการกินและและน้ำหนักในบรรดาวัยรุ่น ได้แก่การมีส่วนร่วมในกีฬาบางประเภท และการอดอาหาร (Dieting)

ในปัจจัยแรก เป็นกีฬาที่กำหนดน้ำหนัก อาทิ มวยปล้ำ และการพายเรือ หรือที่ความผอมเป็นข้อได้เปรียบ อาทิ การวิ่งระยะไกล และการปั่นจักรยาน กีฬาเหล่านี้สัมพันธ์กับการกินอาหารที่ผิดปรกติและการออกกำลังกายที่โหมหนักเกินไป ตลอดจนการใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) และอาหารเสริม (Food supplement)

ในปัจจัยหลัง การอดอาหารทำให้วัยรุ่นมีความเสี่ยงในเรื่องพัฒนาการความผิดปรกติในการกิน (Eating disorder) ที่ร้ายแรงและภาวะอ้วนเกิน (Obesity) พฤติกรรมสมบูรณ์แบบ (Perfectrionistic) ก็มีความสัมพันธ์กับความผิดปรกติในการกินของวัยรุ่น เหมือนกัน

การบำบัดรักษาวัยรุ่นที่มีความไม่พึงพอใจต่อภาพลักษณ์ (Image) ของร่างกาย และผู้ใช้มาตรการควบคุมน้ำหนักที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สามารถดำเนินการผ่านวิธีการต่างๆ แต่ที่ได้ประสิทธิผลมากที่สุด มักต้องเกี่ยวข้องกับครอบครัวของวัยรุ่นเอง ตัวอย่างเช่น การวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า ผลลัพธ์จะดีขึ้นเมื่อวัยรุ่นได้รับการบำบัดในฐานะผู้ป่วยนอก ที่มีส่วนร่วมอย่างมากจากครอบครัว ผ่านการให้การศึกษาแก่พ่อแม่ และการให้การสนับสนุนครอบครัว

การศึกษาวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่สามารถฟื้นฟูจากความผิดปรกติในการกิน โดยปราศจาการบำบัดตามวิชาชีพ เปิดเผยว่า หากพ่อแม่วัยรุ่น มีส่วนร่วมแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้เวลาสั้นลงในความผิดปรกติและการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่า ครอบครัวของวัยรุ่น มีบทบาทสำคัญ (Instrumental) ในการป้องกันและบำบัดความผิดปรกติในการกิน แม้ว่าไม่มีรูปแบบ (Pattern) เฉพาะใดๆ ของความบกพร่อง (Dysfunction) ในครอบครัว ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการดังกล่าว

โปรแกรมและนักบำบัด (Therapist) จะมุ่งเน้นจุดแข็งจุดเด่นของแต่ละครอบครัว แล้วจัดแจงการบำบัดที่เหมาะสม (Tailor-make) กับการสนับสนุนจุดแข็งจุดเด่นดังกล่าว วิธีนี้จะได้ประสิทธิผลมากกว่าเพียงการมีส่วนร่วมโดยทั่วไปของครอบครัว

นอกจากนี้ การศึกษาที่สัมพันธ์กับประเด็นการบำบัดรักษา ได้แสดงผลลัพธ์ที่น่าสนใจมาก เมื่อสาววัยรุ่นคนหนึ่ง ไปรับการฉายภาพ (Scan) เพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของกระดูก (Bone density) แล้วพบว่า เธอเป็นผู้มีอายุน้อยเพียงรายเดียว ท่ามกลางสตรีสูงอายุจำนวนมากในห้องรอคอย เธอจึงเริ่มเรียนรู้ถึงความเสียหายทางร่างกายที่มีสาเหตุมาจากภาวะจำกัดอาหารจนเกินไป (Anorexic) และนี่ได้กลายมาเป็นหนทางหนึ่งที่แปลกใหม่ จากมิติของความตื่นตัวในวัยรุ่น ที่อาจช่วยให้เธอมีมุมมองที่เป็นจริง (Realistic) ของผลที่ตามมาของการจำกัดอาหารจนเกินไป

ในอีกการศึกษาหนึ่ง พบว่า หนุ่มวัยรุ่นได้รับการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก มักมุ่งเน้นการสร้างสมรรถนะให้ร่างกาย (เท่าที่จะทำได้) ในขณะที่สาววัยรุ่น มุ่งเน้นการสร้างความสวยงามให้เรือนร่าง (เท่าที่จะดูดี)

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. The Psychological Impact of Puberty - http://www.livestrong.com/article/83801-psychological-impact-puberty/ [2014, November 15].