จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 38 : ผลทางจิตจากวัยเจริญพันธุ์ (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ผลการวิจัยแสดงว่า มาตรการควบคุมน้ำหนักที่คัดสรรโดยวัยรุ่น สอดคล้อง (Correspond) กับความไม่พึงพอใจต่อภาพลักษณ์ของร่างกายที่เขาประสบอยู่ สาววัยรุ่นพยายามอดอาหาร (Diet) เพื่อลดน้ำหนักให้มีรูปร่างผอม

ส่วนหนุ่มวัยรุ่น จะเลือกมาตรการที่เขาเชื่อมั่นว่าจะเพิ่มมวล (Mass) กล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังและเล่นกีฬา อาจกินอาหารเสริม (Dietary supplement) และใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) [ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายต่อร่างกาย] หนุ่มวัยรุ่นที่อ้วนเกิน มีแนวโน้มที่จะอดอาหาร เพื่อลดไขมัน แต่อาจมิใช่เพื่อลดน้ำหนักเหมือนสาววัยรุ่น

นอกเหนือจากผลที่ตามมา (Consequence) ของอารมณ์ในเชิงลบ (Adverse) ซึ่งสัมพันธ์กับความไม่พึงพอใจต่อรูปลักษณ์ของร่างกายตนเองแล้ว วัยรุ่นที่ไปเกี่ยวข้องกับวิธีการหลากหลายในการควบคุมน้ำหนัก อาจทำให้ร่างกายมิได้รับพัฒนาการที่ดีต่อสุขภาพ ช่วงเวลาของการเจริญเติบโตของวัยรุ่น เป็นจุดสำคัญของการบรรลุสถานะของผู้ใหญ่ตามเกณฑ์ปรกติ และความสามารถในการสืบพันธุ์ (Reproductive)

ผลตามมาที่เห็นเด่นชัดของการควบคุมน้ำหนักที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ก็คือมาตรการที่เกี่ยวกับโภชนาการ (Nutrition) และการเจริญเติบโต (Growth) สาววัยรุ่นที่อดอาหารอย่างต่อเนื่องมีความเสี่ยงสูง เธอจะกินผลไม้ ผัก และธัญพืช (Grain) ในปริมาณที่น้อยกว่าสาววัยรุ่นทั่วไป ร่างกายของเธอได้รับแคลเซี่ยม เหล็ก วิตามิน และสังกระสี ที่น้อยลงด้วย ส่วนหนุ่มวัยรุ่นที่อดอาหาร มีแนวโน้มที่จะกินผลไม้ ในปริมาณที่มากกว่าหนุ่มวัยรุ่นทั่วไป

สำหรับวัยรุ่นที่อดอาหาร จนวิวัฒนาเป็นความผิดปรกติในการกิน (Eating disorder) ผลที่ตามมามีมากกว่าเพียงโภชนาการ อันได้แก่ ภาวะจำกัดอาหารจนเกินไป (Anorexia nervosa) และภาวะกินอาหารมากเกินไป (Bulimia nervosa) รวมทั้งกรณีที่ไม่ถึงกับสุดขั้ว แต่แสดงอาการที่รุนแรงของทั้งสองภาวะดังกล่าว ร่วมกัน

วัยรุ่นที่จำกัดอาหารจนเกินไป มักหมกมุ่น (Obsessive) อยู่กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น โดยไม่พอใจกับน้ำหนักตามปรกติของร่างกาย และปฏิเสธอย่างแข็งขันในเรื่องอันตรายที่เกิดจากการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำมากๆ จนทำให้ร่างกายค่อนข้างผอม หรือซูบผอมจนผิดปรกติ (Emaciated)

ส่วนวัยรุ่นในขั้วตรงกันข้าม มักกินอาหารในปริมาณมากเกินไป (Binge) ในช่วงเวลาอันสั้น โดยพฤติกรรมที่ป้องกันน้ำหนักเพิ่ม หลังการกินอาหาร อาทิ บังคับตนเองให้อาเจียน (Self-induced vomiting) หักโหมในการออกกำลังกาย (Overzealous exercise) หรือกินยาขับถ่าย (Laxative ingestion) แต่ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ร่างกายอ้วนเกินปรกติ

ในกลุ่มวัยรุ่นทั่วไป การวินิจฉัย (Diagnosis) ภาวะกินอาหารมากเกินไป ทำได้ยากกว่าภาวะการจำกัดอาหารจนเกินไป ส่วนความผิดปรกติในการกิน แม้จะเกิดขึ้นระหว่างอายุ 12 ถึง 26 ปี แต่มักเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงวัยรุ่นระหว่าง 14 ถึง 18 ปี แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ มิได้คงอาการนี้ยาวนานจนล่วงเลยถึงวัยผู้ใหญ่

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Psychological Impact of Puberty - http://www.ehow.com/about_5413131_psychological-impact-puberty.html [2014, November 4].