จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 37 : จากกายสู่ใจในวัยรุ่น (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ผลการวิจัยแสดงว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่าน (Transition) จากเด็กไปสู่วัยรุ่น และผลลัพธ์เป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการอัตลักษณ์ (Identity) ของวัยรุ่น วัยรุ่นที่มีความรู้สึกในเชิงบวกเกี่ยวกับร่างกายตนเอง โดยเฉพาะรูปลักษณ์ (Appearance) มีแนวโน้มที่จะประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) สูง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer)

วัยรุ่นที่ไม่พึงพอใจ (Dissatisfied) ร่างกายของตนเอง และมุ่งเน้นความบกพร่อง (Shortcoming) เมื่อเปรียบเทียบกับเสน่ห์ดึงดูด (Attractiveness) ในอุดมคติทางวัฒนธรรมและสังคม ที่อาจไม่เป็นจริง (Unrealistic) มีแนวโน้มที่จะประสบความรู้สึกซึมเศร้า (Depression) และไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมควบคุมน้ำหนักที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเลย

ความไม่พึงพอใจต่อภาพลักษณ์ (Image) ของตนเอง และความแตกต่างระหว่างการประเมินรูปลักษณ์กับภาพอุดมคติภายในจิตใจ เป็นตัวบ่งชี้ (Indicator) ถึงความซึมเศร้าของวัยรุ่น และเป็นหนึ่งในตัวพยากรณ์ (Predictor) ที่สำคัญที่สุดของความผิดปรกติในการกิน (Eating disorder) การพึ่งพาการออกกำลังกาย และการใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) ในบรรดาวัยรุ่น

มาตรวัด (Measurement) เกี่ยวกับความไม่พึงพอใจภาพลักษณ์ของร่างกาย เป็นเรื่องของความรู้สึก (Subjective) กล่าวคือทั้งภาพลักษณ์จริงของร่างกาย (สิ่งที่วัยรุ่นคิด ว่าเขาดูดีหรือไม่ดีอย่างไร?) และภาพลักษณ์ในอุดมคติ (สิ่งที่วัยรุ่นจินตนาการ [Conceptualization] ว่า ร่างกายที่สมบูรณ์แบบ [Perfect] ควรเป็นอย่างไร?) ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นของวัยรุ่น ในเรื่องรูปลักษณ์และความสำคัญต่อการดำรงชีวิต

ความแตกต่างระหว่างเพศชายกับเพศหญิง มีผลต่อลักษณะความไม่พึงพอใจต่อภาพลักษณ์ของร่างกาย และมาตรการควบคุมน้ำหนักที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลง (Modify) ร่างกายที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ หนุ่มวัยรุ่นที่แสดงความไม่พึงพอใจต่อร่างกายตนเอง สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกต้องการลดน้ำหนัก เนื่องจากอ้วนเกินกว่าน้ำหนักถัวเฉลี่ย และกลุ่มหลัง มักมีน้ำหนักต่ำว่าถัวเฉลี่ยและต้องการกล้ามเนื้อที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ดูกำยำล่ำสัน ส่วนหนุ่มวัยรุ่นมีน้ำหนักใกล้เคียงกับถัวเฉลี่ยมิได้มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของร่างกายเลย

เมื่อเปรียบเทียบกับสาววัยรุ่น ซึ่งมักมีจุดมุ่งหมายที่คล้ายคลึงกันมากกว่าหนุ่มวัยรุ่น ผลการวิจัยพบว่า เธอถูกบีบบังคับให้มีรูปร่างบอบบาง เมื่อน้ำหนักของสาววัยรุ่นเพิ่มขึ้น ความไม่พึงพอใจต่อภาพลักษณ์ของร่างกายก็เพิ่มตามด้วย สิ่งที่แตกต่างจากหนุ่มวัยรุ่นก็คือ แทบจะไม่มีสาววัยรุ่นคนไหน แสดงความพึงพอใจในร่างกายของตนเองเลย

นักวิจัยกล่าวถึงผลงานวิจัยว่า “ความไม่พึงพอใจต่อร่างกายตนเองในบรรดาวัยรุ่น เป็นปัจจัยเด่นชัด (Predominant) สำหรับสาววัยรุ่น จนกลายเป็นส่วนประกอบตามเกณฑ์ปรกติ (Normative component) ของการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมตะวันตกสมัยใหม่ไปแล้ว”

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Sexual Development - http://kidshealth.org/parent/growth/sexual_health/development_foyer.html [2014, November 1].