จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 36 : จากกายสู่ใจในวัยรุ่น (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

วัยรุ่นคิดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เขาประสบในวัยเจริญพันธุ์? ผลการวิจัยแสดงว่า ในสังคมตะวันตก สาววัยรุ่นมักจะกังวัลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ (Appearance) ของตนเองในสายตาของผู้อื่น เธอหวังว่า จะได้รับการมองว่า เธอสวยมีเสน่ห์ (Attractive) สอดคล้องกับอุดมคติของสตรี (Feminine ideal) อาทิ รูปร่างบอบบาง (Slim)

อย่างไรก็ตาม สาววัยรุ่นก็มักกังวลว่า เธอสูงเกินไป หรืออ้วนเกินไป และรูปลักษณ์ของร่างกายในเชิงลบ ตั้งแต่เริ่มต้นความเป็นวัยรุ่นจนสิ้นสุดความเป็นวัยรุ่น ร่างกายของสาววัยรุ่นที่พัฒนาช้าเกินไป หรือเร็วเกินไป เมื่อเทียบกับเกณฑ์ปรกติ มีแนวโน้มที่จะฝังจิตฝังใจ (Internalize) ภาพลักษณ์ในเชิงลบของร่างกายตนเอง

แม้สาววัยรุ่นได้สัดส่วน (Proportion) ดีอยู่แล้ว ยังอาจพยายามชดเชยสิ่งที่เธอคิดว่ายังเป็นความบกพร่องทางร่างกาย โดยการงอตัว (Slouch) [มิให้ดูสูงเกินไป] สวมรองเท้าส้นสูง [เพื่อมิให้ดูเตี้ยเกินไป] และพยายามอดอาหาร (Diet) [เพื่อมิให้ดูอ้วนเกินไป]

ปฏิกิริยาของสาววัยรุ่น ต่อการมีประจำเดือนครั้งแรก (Menarche) มีทั้งบวกและลบ (Mixed) กล่าวคือ เธอจะมีความรู้สึกตื่นเต้นและสับสนในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าประจำเดือนมาก่อนเวลาอันควร และมิได้รับการบอกเล่าว่าจะต้องทำอย่างไร? และคาดหวังอะไร?

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีสาววัยรุ่นเพียงจำนวนน้อย ที่จะเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนครั้งแรก และก็มีเพียงจำนวนน้อยเช่นกันที่รู้สึกดีใจเหลือเกิน (Over-joy) ที่กำลังโตเป็นสาวแล้ว [มิได้เป็นเด็กหญิงอีกต่อไป]

ภาพลักษณ์ของร่างกายในหนุ่มวัยรุ่น มักเป็นไปในเชิงบวกมากว่าสาววัยรุ่น เขาจะต้อนรับการมีน้ำหนักเพิ่มด้วยความยินดี โดยหวังที่จะมีตัวสูง ผมดก และสง่างาม (Handsome) แต่เขาอาจหมกมุ่น (Pre-occupied) อยู่กับภาพลักษณ์ที่เน้นย้ำเรื่องความกำยำล่ำสัน (Prowess) เหมือนนักกีฬา

การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำสำหรับสาววัยรุ่น แต่หนุ่มวัยรุ่นกลับไม่ค่อยรับรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างชัดเจน โดยที่เขาจะไม่ค่อยบอกใครถึงการหลั่งน้ำอสุจิ (Ejaculation) ในเวลากลางคืนที่นอนอยู่ [หรือ “ฝันเปียก”] และมิได้มีการเตรียมความพร้อมมาก่อน

ในขณะที่ร่างกายของวัยรุ่นกำลังเจริญเติบโต จนกลายเป็นผู้ใหญ่ในที่สุด หนุ่มวัยรุ่นก็แสดงปฏิกิริยาทั้งในเชิงบวกและลบต่อการบรรลุความพร้อมทางเพศ (Sexually mature) เช่นเดียวกับสาววัยรุ่น

แหล่งข้อมูล

1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
2. Sexual Development - http://kidshealth.org/parent/growth/sexual_health/development_foyer.html [2014, October 28]