จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 35 : แนวโน้มทางเพศ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

วัยรุ่นได้วิวัฒนาเป็นรักร่วมเพศ [เดียวกัน] (Homosexual) รักต่างเพศ (Heterosexual) หรือ รักทวิเพศ (Bisexual) ได้อย่างไร? คำตอบในมิติหนึ่งก็คือ เขาไม่มีทางเลือก เพราะเป็นเรื่องของร่างกาย (Biological) ที่ทำให้เป็นเช่นนั้น แต่ส่วนหนึ่งของความลึกลับเกี่ยวกับแนวโน้มทางเพศ (Sexual orientation) ก็คือรหัสของ ยีน/จีน (Genetic code)

ทีมนักวิจัยพบว่า คู่แฝดเหมือน (Identical twin) [กล่าวคือ คู่แฝดที่เกิดจากไข่ฟองเดียวกัน (Monozygotic)] จะมีแนวโน้มทางเพศเหมือนกัน มากกว่าคู่แฝดพี่น้อง (Fraternal twin) [กล่าวคือ คู่แฝดที่เกิดจากไข่สองฟอง (Dizygotic)] ประมาณครึ่งหนึ่งของคูแฝดเหมือน จะมีแนวโน้มทางเพศเดียวกัน กล่าวคือ สภาพแวดล้อมมีส่วนพัฒนาแนวโน้มทางเพศ พอๆ กับปัจจัยทางกรรมพันธุ์

แล้วปัจจัยสภาพแวดล้อมอะไรที่จะช่วยกำหนดว่า ผู้ที่มีแนวโน้มทางกรรมพันธุ์ (Genetic disposition) ของรักร่วมเพศ จะถูกเสน่หา (Attract) ต้องตาต้องใจกับเพื่อนเพศเดียว? เรายังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดในเรื่องนี้ และยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่สนับสนุนความคิดเก่าทางจิตวิเคราะห์ (Psycho-analytic) ที่ว่า หนุ่มรักร่วมเพศมักเกิดจากการครอบงำของแม่ที่แข็งกร้าว และพ่อที่อ่อนแอปวกเปียก

วัยรุ่นรักร่วมเพศส่วนใหญ๋ มักเจริญเติบโตภายใต้การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่มีแนวโน้มของรักต่างเพศ โดยไม่มีประจักษ์หลักฐานของความคิดที่ว่า การเจริญเติบโตภายใต้พ่อแม่ที่เป็นรักร่วมเพศ จะมีอิทธิต่อประเภทของเพศ (Gender type) ในตัวลูก ทั้งในปัจจุบันหรือในที่สุด รวมทั้งไม่มีหลักฐานสนับสนุนความคิดที่ว่า พวกรักร่วมเพศ ไม่เป็นที่ยอมรับ (Reject) ของผู้เป็นพ่อ หรือได้รับการชักนำ (Seduce) โดยผู้มีประสบการณ์มากกว่า ให้มีวิถีชีวิต (Life style) ที่กลายเป็นรักร่วมเพศ

ข้อสมมุติฐานในเรื่องอิทธิพลของฮอร์โมนในสภาพแวดล้อมก่อนเกิด (Pre-natal) ดูเหมือนกำลังจะมีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น สาววัยรุ่นที่ได้รับสารฮอร์โมนเพศชาย (Androgen) ในปริมาณ (Dose) สูงก่อนเกิด มีแนวโน้มทางเพศเป็นรักทวิเพศ หรือสาวรักร่วมเพศ (Lesbian) [อวัยวะเพศของสาวบางคน ได้วิวัฒนาไปในรูปแบบภายนอกเหมือนองคชาตของเพศชาย}

นอกจากนี้ ยังมีประจักษ์หลักฐานว่า สภาพแวดล้อมก่อนเกิดที่มีสารฮอร์โมนเพศชาย ในระดับต่ำ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้หนุ่มวัยรุ่น แสดงออกซึ่งเสน่หาของความรักใคร่ (Erotic) กับเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่า ปัจจัยอะไรในสภาพแวดก่อนเกิดหรือหลังเกิดและกรรมพันธุ์ ที่ทำให้เกิดแนวโน้มรักร่วมเพศ?

ตั้งแต่สิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีความเคลื่อนไหวทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด (Visibility) ในเรื่องการยอมรับ (Recognition) สิทธิทางกฎหมายของผู้ที่เป็นรักร่วมเพศ รวมทั้งสิทธิในการแต่งงาน การเป็นพ่อแม่-ลูกบุญธรรม (Adoption) การรับจ้างทำงานการเป็นทหารรับใช้ชาติ การมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพ และการออกฎหมายต่อต้านการรังแก และปกป้องพิทักษ์รักร่วมเพศผู้เยาว์วัย

แหล่งข้อมูล

1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
2. Homosexuality - http://en.wikipedia.org/wiki/Homosexuality [2014, October 25].