จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 33 : การสำรวจในโลกอินเทอร์เน็ต

จิตวิทยาวัยรุ่น

นอกเหนือจากการติดต่อซึ่งหน้า (Face-to-face) กับเพื่อนๆ วัยรุ่นยังสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเพศจากสื่อต่างๆ อาทิ โทรทัศน์ นิตยสาร และภาพยนตร์ ตลอดจนสื่อออนไลน์ ในการศึกษาครั้งหนึ่ง ทีมนักวิจัยพบว่า วัยรุ่นแสดงออกซึ่งความสนใจในเรื่องสุขภาพทางเพศ (Sexual health) บนกระดานประกาศของอินเทอร์เน็ต (Web-board) มากกว่าสองเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับกระดานประกาศจริง (Bulletin board)

สิ่งที่แตกต่างจากสื่ออื่นๆ ก็คือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถมีส่วนร่วมอย่างทันใดทันควัน ในการโต้ตอบเรื่องเพศ และอาจใช้ห้องสนทนา (Chat) ในการสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual identity) ที่กำลังเกิดขึ้น (Emerging)ในการรับข่าวสารเกี่ยวกับทัศนคติทางเพศของวัยรุ่นคนอื่นๆ ตลอดจนมีเพศสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ (Cyber-sexual relationship)

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า วัยรุ่นจากสาธารณรัฐเช็ค (Czech Republic) เปิดเผยว่า ประมาณ 16% ของตัวอย่าง (ซึ่งมีจำนวนหนุ่มวัยรุ่นพอๆ กับจำนวนสาววัยรุ่น) เคยมีเพศสัมพันธ์ออนไลน์ (Virtual sex on-line) มาก่อน และประมาณ 1 ใน 3 เปิดเผยว่า ได้ใช้อินเทอร์เน็ตหาประสบการณ์ทางเพศเป็นครั้งแรกในชีวิต

แล้ว วัยรุ่นพูดคุยอะไรกันในสภาพแวดล้อมของนิรนาม (Anonymous) ในห้องสนทนาออนไลน์? การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยว่า มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ อาทิ อายุ เพศ และสถานที่ เสมือนการสนทนาซึ่งหน้า และมีประจักษ์หลักฐานว่า วัยรุ่นคู่สนทนา แสวงหาข้อมูลและอัตลักษณ์ในเรื่องเพศ

ถัวเฉลี่ยแล้ว มีการเอ่ยถึงเรื่องเพศ 1 ครั้งต่อนาที โดยที่ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นไปตามอายุของวัยรุ่น อาทิ วัยรุ่นอายุ 18 ปีและสูงกว่า จะมีการเอ่ยถึงเรื่องเพศบ่อยถี่กว่า วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 10 ปี ถึง 17 ปี ประมาณ 20% ของผู้เข้าร่วมสำรวจนี้ มีชื่อเล่นที่ตั้งขึ้นเพื่อเพศสัมพันธ์ออนไลน์โดยเฉพาะ อาทิ “กระต่ายน้อยหิมะ” (Snowbunny) ส่วนเนื้อหา (Content) แตกต่างไปตามเพศชายหรือหญิง (Gender)

หนุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มมากกว่าสาววัยรุ่นในการพูดถึงเรื่องเพศอย่างเปิดเผย (Explicit) ว่ากำลังหาคู่เพศตรงข้ามอยู่หรือไม่?ในขณะที่สาววัยรุ่นมีแนวโน้มมากกว่าหนุ่มวัยรุ่นในการพูดถึงเรื่องเพศอย่างอ้อมค้อม (Implicit) หรือใช้ชื่อเล่นที่ตั้งขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม อาทิ ชื่อ “นางฟ้าไร้เดียงสา” (Innocent angel)

การค้นพบเหล่านี้ แสดงเป็นนัยว่า วัยรุ่นหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศอย่างเดียวหรือ? คำตอบคือ ไม่ใช่ เนื่องจากผู้ร่วมสนทนาส่วนมาก มิได้พูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ และการเปิดเผยข้อมูลสนทนาในที่สาธารณะ (Public place) มีหน้าต่างสนทนา (Chat window) ที่ผู้อื่นเห็นข้อความที่โต้ตอบกันหมด

อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งให้ข้อมูลมหาศาลแก่วัยรุ่นในเรื่องเพศ และค่อนข้างปลอดภัย เพราะวัยรุ่นสามารถสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศที่กำลังเกิดขึ้น โดยมิต้องเปิดเผยชื่อจริง ปราศจากความเสี่ยงที่เกิดจากการเปิดเผยอัตลักษณ์ของตนในโลกจริง

แหล่งข้อมูล

1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
2. Sex Education Resources for Parents - http://sexuality.about.com/od/sexeducationforparents [2014, October 18].