จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 32: ทัศนคติและพฤติกรรมทางเพศ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

การตัดสินใจในประเด็นเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ยาก เพราะวัยรุ่นได้รับข้อมูลจากหลายแหล่งด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากพ่อแม่ พระสงฆ์องค์เจ้า และผู้ตอบปัญหาตามสื่อต่างๆ ก็มักแนะนำวัยรุ่นให้คุณค่าแก่ “พรหมจรรย์” (Virginity) และการหลีกเลี่ยงผลที่จะตามมาจากเพศสัมพันธ์

วัยรุ่นยังได้รับการสั่งสอนให้รู้สึกน่าละอายใจในเรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (Masturbation) แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ ที่บ่อยครั้งได้แสดงถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยแต่งงาน และความสำส่อนทางเพศ ของตัวละครเอกในท้องเรื่อง อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือยอมกัรับได้ในสังคม

ในครอบครัวที่มีสมาชิกวัยรุ่นมากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกัน พฤติกรรม (Behavior) ของวัยรุ่นพี่ซึ่งมี “แรงตื่นตัวทางเพศ” (Sexually active) อาจเป็นที่สังเกตของวัยรุ่นน้อง ซึ่งมีความพร้อมทางเพศในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็อาจเลียนแบบกิจกรรมทางเพศ (Sexual activity) ตามๆ กัน [นับเป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถของพ่อแม่ไม่น้อยเลย]

ทัศนคติทางเพศเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาฉันใด รูปแบบ (Pattern) ของพฤติกรรมทางเพศก็เปลี่ยนแปลงไปฉันนั้น วัยรุ่นในสมัยนี้เกี่ยวข้องกับความใกล้ชิด (Intimate) ของกิจกรรมทางเพศ อาทิ การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (Masturbation) การกอดจูบ-ลูบไล้ (Petting) และการร่วมเพศ (Sexual intercourse) มากกว่าวัยรุ่นในสมัยพ่อแม่

ผลการวิจัยแสดงว่า วัยรุ่นส่วนมากที่ “แรงตื่นตัวทางเพศ” มักมีความสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียว (Single partner) อย่างไรก็ตาม สาววัยรุ่นมีแนวโน้มมากกว่าหนุ่มวัยรุ่น ที่จะยืนยันความรัก (Love) ควบคู่กับความใคร่ (Desire) ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ในขณะที่หนุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มมากว่าสาววัยรุ่น ที่จะบรรลุ “จุดสุดยอด” (Climax) ในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก

ผลงานวิจัยยังได้แสดงถึงปัจจัยต่างๆ ที่นำไปสู่การเกี่ยวข้องทางเพศ (Sexual involvement) ตั้งแต่ช่วงต้นของวัยรุ่น ตลอดจนความเสี่ยงที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่มิได้มีการป้องกัน กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เป็นวัยรุ่นที่มีความพร้อมทางเพศ (Sexually mature) เร็วกว่าเพื่อน มักมาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ มีปัญหาในการเรียน คบเพื่อนที่มี “แรงตื่นตัวทางเพศ” ผู้ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเสี่ยง อาทิ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการเสพยา (Substance abuse)

วัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว มักไม่มีการคุมกำเนิด (Contraception) เนื่องจาก (1) ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นการสืบพันธุ์ (Reproductive) (2) ไม่มีวุฒิภาวะ (Immature) พอที่จะเข้าใจผลที่จะตามมา (Consequence) ในระยะยาวของพฤติกรรมเสี่ยง (3) กังวลว่า คู่นอนจะมีความรู้สึกในเชิงลบหากมีการเตรียมความพร้อมมาก่อน และ (4) ได้รับอิทธิพลจากเพื่อนที่มีประสบการณ์มาก่อนในเรื่องเพศสัมพันธ์ที่มิได้มีการป้องกัน

ผลที่อาจตามมาจากความเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ การตั้งครรภ์ (Pregnancy) และการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease : STD)

แหล่งข้อมูล

1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
2. Sexual Attitudes and Behavior of College Students - http://ezinearticles.com/?Cultural-Influences-On-Sexual - http://www.colostate.edu/Depts/SAHE/JOURNAL2/2003/CrossMorgan.htm [2014, October 14].