จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 27 : การรับมือกับปัญหาทางเพศ (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

กิจกรรมทางเพศ (Sexual activity) เป็นประสบการณ์หลากหลายที่มนุษย์แสดงออกในเรื่องเพศ (Sexuality) ในบางเวลา และด้วยเหตุผลแตกต่างกัน ซึ่งมักลงเลยด้วยการกระตุ้นความต้องการทางเพศ (Sexual arousal) และการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ (Physiological change) ของผู้ที่ถูกกระตุ้น กิจกรรมบางอย่างนั้นเด่นชัด (Pronounced) แต่บางอย่างก็ละเอียดอ่อน (Subtle)

กิจกรรมดังกล่าวได้แก่ การสร้างเสน่หาเพื่อดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม และปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคล อาทิ การเกี้ยวพาราสี (Flirting) และการเล้าโลม (Foreplay) ในบางวัฒนธรรม กิจกรรมทางเพศเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับกันได้เมื่อมีการแต่งงานเท่านั้น แม้การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน (Pre-marital) และนอกเหนือการแต่งงาน (Extra-marital) จะสิ่งที่พบเห็นบ่อยก็ตาม

กิจกรรมทางเพศมีหลากหลายมิติ ซึ่งรวมทั้งความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง (Personal bonding) การมีอารมณ์ร่วม (Shared emotion) กระบวนการทางสรีระ (Physiological process) อาทิ ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive system) แรงขับเคลื่อนทางเพศ (Sex drive) การร่วมเพศ (Sexual intercourse) และพฤติกรรมทางเพศ (Sexual behavior) ในทุกรุปแบบ

พ่อแม่มักประเมินกิจกรรมทางเพศของวัยรุ่นต่ำเกินไป และมักไม่เต็มใจ (Reluctant) ที่จะสื่อสารความรู้สึกของตนเองที่ต่อต้านกิจกรรมทางเพศของวัยรุ่น แต่ผลการวิจัยก็แสดงชัดเจนว่า มาตรการป้องกันที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกันอย่างเปิดใจ (Frank) แต่เนิ่นๆ ในเรื่องเพศระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น

ศูนย์การควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ในสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูก ในเรื่องความเสี่ยงทางเพศ และการใช้ถุงยางอนามัย (Condom) ก่อนลูกจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในชีวิต

ผลลัพธ์ก็คือ (1) การชะลอการเริ่มต้นมีเพศสัมพันธ์ และ (2) การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อวัยรุ่นเริ่มมีแรงกระตุ้นทางเพศ (Sexually active) ผลที่ตามมา (Consequence) อย่างเห็นได้ชัดก็คือ วัยรุ่นมีแนวโน้มลดลงทั้งในการตั้งครรภ์และในการติดเชื้อโรคติอต่อทางเพศสัมพันธ์

การแทรกแซง (Intervention) จากภายนอกครอบครัว ก็เริ่ม (Emerge) เห็นผลเช่นกัน วิธีการหนึ่งที่เอกชนสนับสนุนทางการเงิน ก็คือโปรแกรม “เข้าถึงวัยรุ่น” (Teen Outreach) ซึ่งมีกว่า 50 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกา วัยรุ่นในโปรแกรมเหล่านี้ เป็นอาสาสมัคร (Volunteer) ให้บริการต่างๆ อาทิ การสอนหนังสือเพื่อน (Peer tutoring) และการช่วยงานที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ วัยรุ่นอาสาสมัครยังมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียนเป็นประจำ ในหัวข้องานอาสาสมัคร ทางเลือกวิชาชีพในอนาคต และการตัดสินใจในเรื่องความสัมพันธ์ การประเมินผลของโปรแกรม ณ 25 สาขาทั่วประเทศ พบว่า อุบัติการณ์ (Incidence) ของการตั้งครรภ์ในบรรดาสาววัยรุ่นในโปรแกรม มีต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสาววัยรุ่นจากครอบครัวมีพื้นเพทางเศรษฐกิจและสังคมเดียวกัน แต่ไม่ได้เข้าร่วมในโปรแกรม

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Human sexual activity - http://en.wikipedia.org/wiki/Sexually_active [2014, September 27].