จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 26 : การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (3)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ในทางชีวภาพ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเกิดขึ้นในสาวที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (นับ ณ เวลาที่การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง) แม้การตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นในได้ก่อนมีประจำเดือนครั้งแรก (Menarche) แต่ตามปรกติแล้วจะเกิดขึ้นหลังช่วงเวลาดังกล่าว ในเด็กสาวที่ได้รับการดูแลที่ดี (Well-nourished) ประจำเดือนมักจะมาครั้งแรกระหว่างอายุ 12 - 13 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณของความสมบูรณ์พร้อม (Fertility) [ที่จะมีลูก]

วัยรุ่นตั้งครรภ์ประสบปัญหาทางสูติเวช (Obstetrics) เช่นเดียวกับสตรีอื่นๆ แต่มีความกังวลทางการแพทย์เพิ่มเติมในแม่ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ตัวอย่างเช่น เวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการตั้งครรภ์ของสตรีทั่วไปอยู่ระหว่างอายุประมาณ 15 ปี ถึง 35 ปี แต่ผลการวิจัยแสดงความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างอายุของสตรีและความเสี่ยงถึงแก่ความตายของทารกในครรภ์ (Fetus) หรือทารกแรกเกิด (Neonate)

ความเสี่ยงของทารกที่ตาย (Infant mortality) เพิ่มขึ้นสูงมาก สำหรับแม่ที่มีอายุ 15 ปี และต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแม่ที่มีอายุช่วง 20 ปี ถึง 29 ปี แม่ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ประสบโรคแทรกซ้อนของการคลอดลูก (Birth complications) มากกว่า และมีแนวโน้มที่จะคลอดลูกก่อนกำหนด (Premature delivery) และทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปรกติ

ทำไมแม่วัยรุ่นและทารกน้อย จึงมีความเสี่ยงสูง? เหตุผลหลักก็คือ วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ มักมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน (Impoverished) จึงมักขัดสนในเรื่องโภชนาการ มีระดับความเครียดสูง และไม่มีโอกาสมากนักในการเข้าถึงการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ (Pre-natal care) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สำหรับแม่ที่มีอายุระหว่าง 15 ปี ถึง 19 ปี ปัจจัยความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม (Socio-economic) มีสูงกว่าผลกระทบจากอายุเสียอีก

ผลงานวิจัยยังแสดงว่า ความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อยเมื่อแรกเกิด (Anemia)) และ ครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia) [หรือความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์] ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกับอายุทางร่างกาย (Biological age) ตามข้อสังเกตในการคลอดลูกของวัยรุ่น แม้หลังการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ การดูแลก่อนเกิด (Ante-natal care) หรือระหว่างตั้งครรภ์

ในประเทศพัฒนาแล้วการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มักเกิดนอกสมรส และเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม (ซึ่งถือเป็น “ชนักติดหลัง” [Stigma] ของหลายๆ ชุมชนและวัฒนธรรม) อันได้แก่ ระดับต่ำของการการศึกษา อัตราสูงของความยากจน และผลลัพธ์ (Outcome) ของชีวิตที่สู้ดีนัก (Poor life) ในลูกของแม่วัยรุ่น

ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา (รวมทั้งไทยด้วย) แม่เยาว์วัยที่ตั้งครรภ์ มักเป็นวัยรุ่นที่แต่งงานเป็นกิจลักษณะ และเป็นการตั้งครรภ์ที่ได้รับการต้อนรับจากครอบครัวและสังคม แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นทุพโภชนการ (Mal-nutrition)และสุขภาพที่ไม่แข็งแรง จนเป็นปัญหาทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของ “ชีวิตก่อนเกิด” (Life before birth) อาจเป็น “กับระเบิด” (Minefield) ที่หลีกเลียงได้ หากแม่วัยรุ่นและทารกในครรภ์ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ระหว่างตั้งครรภ์และคลอดลูก

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Teenage pregnancy - http://en.wikipedia.org/wiki/Teenage_pregnancy [2014, September 23].