จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 25 : การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ผลการวิจัยแสดงว่า วัยรุ่นตั้งครรภ์เป็นผู้ที่ประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) สูง และมีความพึงพอใจมาก เมื่อได้รับการสนับสนุนจากทางสังคม (Social support) อาทิ จากพ่อแม่ ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ที่เผชิญกับผลกระทบในเชิงลบในการทำงานกับวัยรุ่นตั้งครรภ์ มักสนับสนุนการสื่อสารกับครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญ

แม่วัยรุ่น (โดยเฉพาะผู้ที่มาจากครอบครัวยากจน) มีแนวโน้มที่จะขัดสนทางโภชนาการ (Poorly nourish) ดื่มแอลกอฮอล์ และเสพยาเสพติดในขณะตั้งครรภ์ แม่วัยรุ่นมักไม่ได้ดูแลทารกในครรภ์ (Pre-natal care) อย่างเพียงพอ ดังนั้น แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่จึงประสบปัญหาโรคแทรกซ้อน (Complication) ก่อนคลอดและระหว่างคลอด รวมถึงการคลอดลูกก่อนกำหนด หรือตัวเล็กผิดปรกติหลังคลอดใหม่ๆ

แม่วัยรุ่นไม่เพียงแต่คลอดลูกที่มีความเสี่ยงตั้งแต่แรกเกิด แต่ยังไม่มีความพร้อมทางสติปัญญา (Intellectual) สำหรับความรับผิดชอบของความเป็นแม่ (Motherhood) ซึ่งมักจะไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือทางสังคมจากพ่อที่เป็นวัยรุ่นด้วยกัน โดย (1) ไม่มีความรู้เพียงพอในเรื่องพัฒนาการของเด็ก (2) มองทารกว่าเป็นตัวสร้างความลำบาก (3) ประสบความเครียดจากการเลี้ยงดูลูก และ (4) ไม่สนองตอบทารกด้วยความรู้สึกเอ็นดู (Affection)

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติตัวที่ไม่ดีของแม่วัยรุ่น และผลลัพธ์ (Outcome) ที่เธอและลูกได้รับ มิใช่เกิดแก่แม่วัยรุ่นเพียงผู้เดียว แม่วัยรุ่นที่มิได้แต่งงานและมาจากครอบครัวยากจน ก็ไม่สนองตอบทารกด้วยความรู้สึกที่ดี (Stimulating) เช่นกัน

รูปแบบ (Pattern) ของแม่วัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงนี้ มีผลสะท้อนที่ตามมา (Consequence) ในระยะยาว เนื่องจากลูกของแม่วัยรุ่นมักแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดถึงความด้อยปัญญา (Intelectual deficit) และการได้รับความกระทบการเทือนทางอารมณ์ (Emotional disturbance) ในการเรียน ผลการเรียนที่ย่ำแย่ ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนฝูง และพฤติกรรมทำผิดกฎหมาย (Delinquent) ในวัยเด็ก

สถานการณ์ชีวติของแม่วัยรุ่นอาจดีขึ้น และพัฒนการของลูกเธออาจก้าวหน้าขึ้น หากเธอ (1) ได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากพ่อแม่ของเธอ (2) กลับไปเรียนหนังสือต่อ และ (3) หลีกเลี่ยงการมีลูกอีก อย่างไรก็ตาม เธอยังคงมีความเสี่ยงสูงทางด้านฐานะทางเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับสาววัยรุ่นอื่นที่ชะลอกการมีลูกจนถึงอายุเลย 20 ปีขึ้นไป

เพื่อลดอุบัติการณ์ (Incidence) ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงมักมีคำถามว่า แล้วเราจะชะลอการเริ่มต้น (Onset) ของพฤติกรรมทางเพศในบรรดาวัยรุ่นได้อย่างไร? นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmentalist) เชื่อมั่นว่า ขั้นตอนแรกที่สำคัญ (Crucial) ในการนำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ก็คือการเริ่มต้นที่บ้าน เหมือนคำกล่าวที่ว่า “วินัยเริ่มที่บ้าน”

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Teenage pregnancy - http://en.wikipedia.org/wiki/Teenage_pregnancy [2014, September 20].