จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 21 : ประเด็นความต้องการทางเพศ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

สถิติในสหรัฐอเมริกาแสดงว่า เวลาแห่งการรอคอย ระหว่างความพร้อมทางเพศ (Sexually mature) กับการสร้างความสัมพันธ์อันถาวร (Permanent) ได้ยืดยาวนานขึ้น โดยที่อายุถัวเฉลี่ยของการแต่งงานได้เพิ่มขึ้นจาก 22 ปี ในปี พ.ศ. 2513 เป็น 26 ปี ในปี พ.ศ. 2540

เช่นเดียวกัน จำนวนวัยรุ่นที่มีความต้องการทางเพศ (Sexually active) ได้เพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี พ.ศ. 2513 เป็น 50% ในปี พ.ศ. 2540 ตัวอย่างเช่น การสำรวจหนึ่ง พบว่า เมื่ออายุ 17 ปี 60% ของวัยรุ่น ได้มีกิจกรรมทางเพศ โดยที่หนุ่มวัยรุ่นมีความต้องการทางเพศมากกว่าสาววัยรุ่น

การสำรวจในปี พ.ศ. 2543 รายงานว่า 56% ของสาววัยรุ่นเคยมีเพศสัมพันธ์ เมื่อถึงอายุ 17 ปี เปรียบเทียบกับ 42% ในปี พ.ศ. 2523 อายุมัธยฐาน (Median) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอยู่ที่ 17.4 ปี สำหรับสาววัยรุ่น ประมาณครึ่งหนึ่ง (48%) ของสาววัยรุ่น กล่าวว่า อายุที่เหมาะสมที่สุดของการมีเพศสัมพันธ์น่าจะอยู่ระหว่าง 18 ปี ถึง 20 ปี เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กสาว ซึ่งมีความต้องการทางเพศ (Sexually active) รายงานว่า ไม่ได้ใช้สิ่งคุมกำเนิด (Contraceptive)

ในการสำรวจเดียวกัน รายงานว่า 67% ของหนุ่มวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ เมื่อถึงอายุ 17 ปี อายุมัธยฐานสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอยู่ที่ 16.6 ปีสำหรับหนุ่มวัยรุ่น แต่เกือบครึ่งหนึ่ง (47%) ของหนุ่มวัยรุ่น กล่าวว่า อายุที่เหมาะสมที่สุดของการมีเพศสัมพันธ์น่าจะอยู่ระหว่าง 18 ปี ถึง 20 ปี ประมาณ 43% ของหนุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีความต้องการทางเพศ (Sexually active) รายงานว่า ไม่ได้ใช้สิ่งคุมกำเนิด

ผลการสำรวจ สรุปได้ว่า

  1. การสำรวจส่วนใหญ่ รายงานว่า อายุที่วัยรุ่นประกอบกิจกรรมทางเพศ (Sexual activity) มักเร็วกว่าอายุที่ตนคิดว่า เหมาะสมที่สุด สาววัยรุ่นรายงานว่า การมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ เป็นประเด็นอันดับแรกที่เขาและเธอต้องประสบในทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) การเสพจากสื่อ (Media) และแรงกดดันจากเพื่อนฝูง มีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดกิจกรรมทางเพศ
  2. วัยรุ่นในอัตราส่วนสูง (39%) ประกอบกิจกรรมทางเพศ เมื่อถึงอายุ 17 ปี มีโปรแกรมต่างๆ ที่ช่วยลดกิจกรรมทางเพศในวัยรุ่น ตั้งแต่การระงับใจตนเอง (Abstinence) จนถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (Safe sex) นักวิจัยรายงานว่า บางโปรแกรมที่จะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศด้วย
  3. ประมาณครึ่งหนึ่งของหนุ่มและสาววัยรุ่น ไม่ได้ใช้สิ่งคุมกำเนิด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ 2 ประการ กล่าวคือการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually-transmitted disease : STD) รวมทั้งเอดส์ (AIDS) และการเกิดของเด็กจากแม่วัยรุ่นที่มิได้แต่งงาน (Unwed)

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Human sexual activity - http://en.wikipedia.org/wiki/Human_sexual_activity [2014, September 6].