จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 19 : ประเด็นความขัดแย้งในใจ

จิตวิทยาวัยรุ่น

วัยรุ่น (Adolescent) เป็น “รอยต่อ” ของช่วงอายุที่ละทิ้งร่างกายและจิตใจของเด็ก แล้วเริ่มรับช่วงร่างกายและจิตใจของผู้ใหญ่ วัย “เจริญพันธุ์” (Puberty) นี้ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Dramatic) ทั้งในโครงสร้างและการทำงานของร่างกาย ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในความคิด บุคลิกภาพ และพฤติกรรมทางสังคม

ในสหรัฐอเมริกา วัยรุ่นประมาณ 30 ล้านคน ระหว่างอายุ 10 ปี ถึง 17 ปี กำลังค้นหาคำตอบของคำถามประเด็นร้อน “เอาล่ะ ฉันมีความพร้อมทางเพศ (Sexually mature) แล้วฉันควรจะทำอะไร? และอย่างไร?” ซึ่งเป็นประเด็นของการเปลี่ยนแปลงทางจิตและจิตวิทยาที่มาพร้อมกับช่วงเวลาของวัยรุ่น

แม้วัยเจริญพันธุ์จะตระเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับพฤติกรรมทางเพศ แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะสาววัยรุ่น) รายงานว่า ยังไม่พร้อมทั้งทางอารมณ์ จิตวิทยา และจิตใจในการรับมือกับความต้องการและความรู้สึกทางเพศที่อาจรุนแรง

แม้จะไม่ต้องการ “ชิงสุกก่อนห่าม” แต่ปัญหาอันดับแรกที่วัยรุ่นเผชิญอยู่ในใจ ก็คือเรื่องของเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ ส่วนหนึ่งของความยากลำบากในการตัดสินใจของสาววัยรุ่นก็คือ ควรประพฤติตนทางเพศอย่างไรดี? และคำตอบที่เธอได้รับมักจะให้สัญญาณที่ขัดแย้งกัน

อันที่จริง วัยรุ่นได้พัฒนาความรู้สึกดีๆ เกี่ยวกับอัตลักษณ์ (Identity) ของตน ดำรงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ และหลีกเลี่ยงความผิดปรกติทางอารมณ์ (Emotional disorder) แต่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และความรู้สึกทางเพศ ซึ่งเกิดขึ้นใน “วัยเจริญพันธุ์” ทำให้วัยรุ่ต้องตัดสินใจว่า ต้องทำอะไรบ้างเพื่อรองรับกับความพร้อมทางพศ?

ช่วงวัยรุ่น มักจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องของพัฒนาการการรับรู้และอารมณ์ โดยได้รับอิทธิพลจากทั้งปัจจัยทางชีวภาพ (Biological) อาทิ พัฒนาการสมอง และปัจจัยทางสภาพแวดล้อม อาทิ อิทธิพลของเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peers) และพ่อแม่ จนเกิดประเด็นต่างๆ ที่น่ากังวลใจ

ท่ามกลาง “มรสุม” และ “ความเครียด” ของชีวิต วัยรุ่นมีการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นตัวแทนของการแปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในพัฒนาการการรับรู้ ทั้งทางกายภาพ อารมณ์ความรู้สึก และสังคม ในเวลาเดียวกัน

แต่ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมั่นว่า วัยรุ่นไม่จำเป็นต้องถูกตราหน้าว่า เป็น “วัยปั่นป่วนทางจิตวิทยา” (Psychological turmoil) อีกต่อไป เพราะนักจิตวิทยาได้เรียนรู้ว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ มิได้เป็นอย่างที่ได้แสดงภาพผ่านสื่อสารธารณะ หลังจากผ่านพ้นช่วงอายุนี้ วัยรุ่นส่วนมากจะมีความพร้อมและความกระตือรือร้นที่จะเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
2. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.