จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 14 : จากสมองสู่ร่างกายในวัยรุ่น

จิตวิทยาวัยรุ่น

ผู้ใหญ่บางคนสังเกตว่า เมื่อเด็กเจริญเติบโตจนถึงวัยรุ่น (Adolescent) ก็จะเริ่มตั้งคำถามในเชิงสมมุติฐาน (Hypothetical) “อะไรจะเกิดขึ้นถ้า . . .” และในเชิงนามธรรม (Abstraction) อาทิ ความจริง และความยุติธรรม การเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดเหล่านี้ สัมพันธ์กับพัฒนาการสมองในช่วงปลายหรือไม่?

บรรดานักวิจัยในปัจจุบันเชื่อมั่นว่าเป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น สารไขมันที่หุ้มห่อเส้นใยประสาท (Myelinization) ของศูนย์กลางสมองส่วนบนในวัยรุ่น ช่วยเพิ่มช่วงความยาวของสมาธิ (Attention span) และความเร็วของการประมวลข้อมูล (Information processing) มากกว่าวัยเด็ก

ในปัจจุบันเราได้เรียนรู้ว่า สมองยังคงดำรงรักษาอย่างน้อยบางส่วนที่ยืดหยุ่นได้ (Plasticity) เลยวัยเจริญพันธุ์ (Puberty) จนถึงอายุ 20 ปี เป็นอย่างต่ำ โดยการจัดระเบียบใหม่ (Re-organization) ของวงจรเซลล์ประสาท (Neural Circuitry) ของสมองส่วนหน้า (Pre-frontal cortex) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการรับรู้ (Cognitive) ในระดับสูง อาทิ การวางแผนยุทธศาสตร์

นอกจากนี้ ปริมาตรของสมอง จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงช่วงกลางของวัยรุ่น แล้วค่อยๆ ลดลงในช่วงปลายของวัยรุ่น ซึ่งชี้บ่งว่า การจัดระเบียบใหม่ในวัยเจริญพันธุ์ อาจเกี่ยวข้องกับการลดลงของจุดประสานเซลล์ประสาท (Synaptic pruning) ดังนั้น ถึงแม้ว่า การเปลี่ยนแปลงในสมองในช่วงวัยรุ่นจะมีผลกระทบน้อยกว่าช่วงวัยเด็ก การรับรู้ขั้นก้าวหน้าที่วัยรุ่นได้แสดงออก เป็นไปได้หลังจากสมองวัยรุ่นได้ผ่านกระบวนการจัดระเบียบใหม่ และกลายเป็นความเชี่ยวชาญ (Specialization)

มาตรวัดทางร่างกายและจิตใจ (Psycho-physiological) สามารถใช้กับวัยรุ่นในการประเมินผลในหลายแง่มุมของพัฒนาการ ตัวอย่างเช่น ระดับความดันโลหิตและฮอร์โมนจากเปลือกต่อมหมวกไต (Cortisol) ซึ่งมีความแม่นยำในเรื่องความเครียดเรื้อรัง (Chronic stress) ในกลุ่มวัยรุ่น และจากการทดสอบ ก็พบความสัมมพันธ์กับความยากจนมาตั้งแต่เด็ก

ผู้ใหญ่มักแปลกใจ ในเรื่องความเร็วของการเจริญเติบโตของวัยรุ่น ในมิตของน้ำหนักและส่วนสูง ซึ่งจะมีช่วงก้าวกระโดด (Spurt) ทุกๆ 2 - 3 ปี โดยเพิ่มน้ำหนักขึ้น 4.5 - 6.8 กิโลกรัม และ เพิ่มความสูงขึ้น 5 เซ็นติเมตร ในแต่ละช่วงอายุ เมื่ออายุบรรลุ 10.5 ปี สาววัยรุ่นเริ่มเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนมีความสูงที่สุด (Peak) เมื่ออายุ 12 ปี หรือประมาณ 1.3 ปี ก่อนเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก (Menarche)

การเจริญเติบโตของหนุ่มวัยรุ่นจะล้าหลังสาววัยรุ่นอยู่ประมาณ 2 ปี ถึ 3 ปี โดยทั่วไป การเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของหนุ่มวัยรุ่นมักเกิดขึ้น เมื่อเขาอายุได้ 13 ปี และก้าวสู่จุดสูงสุด (Peak) เมื่ออายุ 14 ปี (ช่วงกลางของวัยเจริญพันธุ์) แล้วกลับเข้าสู่อัตราปรกติของการค่อยๆ เจริญเติบโต เมื่ออายุ 16 ปี

เนื่องจากสาววัยรุ่นจะบรรลุวุฒิภาวะ (Mature) เร็วกว่าหนุ่มวัยรุ่น จึงไม่แปลกเลยที่สาววัยรุ่นบางคนจะสูงกว่าหนุ่มวัยรุ่นในชั้นเรียนเดียวกันระหว่างที่อยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (Middle school)

แหล่งข้อมูล

1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
2. Neural development - http://en.wikipedia.org/wiki/Neural_development [2014, August 12].